จากกรณีที่มีข่าว เรือตรวจการของกรมประมง ถูกกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านซึ่งทำผิดกฎหมาย บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี ขับเรือพุ่งชน จนเป็นเหตุให้เรือตรวจการประมงเสียหาย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย โดยสาเหตุของความผิดนั้นคือ การลักกลอบทำการประมงหอยแครง ด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ทั้งเครื่องมือคราดลูกหอยแครง อวนลากคานถ่าง มุ้งทำถุงอวนลากเก็บลูกหอยแครง ซึ่งเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่มักเจออยู่เป็นประจำในกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเล็กๆ แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงจะมีมาตรการกำกับดูแลทั้งในด้านกฎหมายและการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมงแล้วก็ตาม
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า โดยปกติแล้ว ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล กรมประมงได้แบ่งเขตการประมงออกเป็นการทำประมงนอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป หรือเรียกว่าสถานีเรือประมงพาณิชย์ และการทำประมงชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นการทำประมงพื้นบ้าน ที่ปัจจุบันกรมประมงได้รับขึ้นทะเบียนไว้แล้วประมาณ 56,000 ลำ โดยการทำประมงในเขตชายฝั่งนั้น กรมประมงได้ออกกฎหมายประมงฉบับใหม่มาบังคับใช้ ห้ามเรือประมงขนาดใหญ่เข้าทำการประมงในเขตพื้นที่นี้ จึงได้ส่งผลให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และก่อให้เกิดพันธุ์สัตว์น้ำมากมาย โดยเฉพาะลูกหอยแครง ที่เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการพบว่า หอยแครงสามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่ช่วงที่วางไข่มาก จะอยู่ระหว่างช่วง ต.ค. – ธ.ค. และช่วง มี.ค. – ส.ค. ซึ่งเมื่อวางไข่แล้วลูกหอยแครงจะมีโอกาสแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำที่พัดพาในรัศมี 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ และจะตกลงพื้นเคลื่อนตัวเพื่อหาแหล่งอาหารหรือสภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตเพื่อเติบโตเป็นหอยแครงเต็มวัยต่อไป
โดยที่ผ่านมา กรมประมงได้มีมาตรการในการอนุรักษ์หอยแครง เดิมเป็นมาตรการที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้กำหนดห้ามมิให้ทำการประมงคราดหอยประกอบเรือกล ในเขต 3,000 เมตร นับจากฝั่ง และห้ามจับลูกหอยแครงที่มีขนาดต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม แต่เมื่อมีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ออกมาบังคับใช้ ได้มีการกำหนดให้สามารถทำการประมงหอยแครงในเขตทะเลชายฝั่งได้โดยการจับด้วยมือหรือเครื่องมือที่ไม่ใช้ประกอบเรือกล แต่ยังคงห้ามเครื่องมืออวนลากหรือคราดหอยในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเช่นเดิม ส่วนในเขตทะเลนอกชายฝั่งให้ใช้คราดหอยประกอบเรือกลได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตทำการประมงประมงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งเป็นการผ่อนผันให้มีความสอดคล้องกับวิถีประมงในปัจจุบัน แต่ในกรณีของชาวประมงพื้นที่มีการลักลอบทำการประมงหอยแครง ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ถือเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และยังเป็นการทำประมงที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณกลางอ่าวบางปะกง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ชุกชุมของลูกหอยแครง
“แม้ที่ผ่านมา กรมประมงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยึดหลักการมีส่วนร่วมที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนประมงท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้พี่น้องชาวประมงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกำลังหลักในการวางแผนเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วยวิธีการที่เหมาะสมถูกต้อง และร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการ งดเว้นการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดความสูญเสีย ลดความขัดแย้ง สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพประมงได้ แต่จะมีเพียงชาวประมงกลุ่มเล็กๆ ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือและขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมประมงจะต้องสร้างความเข้าใจ เพื่อดึงกลุ่มเล็กๆ ที่เหลือเหล่านี้ให้เข้ามาสู่ในระบบ ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการชุมชนประมงของตนในการจัดการทรัพยากร การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนต่อไป”รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย