คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ไฟเขียว 6 ร่างมาตรฐาน มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ พร้อมสร้างความปลอดภัยของผู้บริโภค

0
26729

วันนี้ (29 มี.ค.66) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2566 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. … โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะดำเนินการนำความคิดเห็นดังกล่าว และความคิดเห็นการเวียนรับฟังความเห็น WTO เสนอคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดทุเรียน นำเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ เพื่อพิจารณา

รวมทั้ง ได้รับทราบผลการดำเนินงานออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ จำนวนทั้งหมด 7 มาตรฐาน ในปีงบประมาณ 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 กันยายน 2565 ได้แก่

1.หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (มกษ.1004-2557)

2.หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด (มกษ.2507-2559)

3. เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน (มกษ.4702-2557)

4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (มกษ.6401-2557)

5. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไม ปลอดโรค (มกษ.7432-2558)

6. การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ.9046-2560)

7. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มกษ.6909-2562)

ซึ่งได้ดำเนินการออกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 234 ฉบับ โดยแบ่งเป็นใบอนุญาตผู้ผลิต 92 ฉบับ ผู้ส่งออก 131 ฉบับ และผู้นำเข้า 11 ฉบับ

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง ได้แก่ 1.เมล็ดโกโก้ 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับโกโก้ 3.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนสารพิษจากราในธัญพืช 4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มไหมชนิดกินใบหม่อน (ทบทวน) 5.แนวทางการทดสอบความไวของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพสำหรับปศุสัตว์ และ 6.ห่วงโซ่การคุ้มครอง : ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยืน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง ได้แก่

1.เมล็ดโกโก้ ปัจจุบันโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกโกโก้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ผลผลิตโกโก้ออกตลอดทั้งปี นอกจากนี้ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีจำนวนมากมีการนำเมล็ดโกโก้ไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรมผลิตช็อกโกแลต มกอช. จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องเมล็ดโกโก้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สร้างความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นเกณฑ์อ้างอิงในทางการค้าในประเทศและระหว่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้เมล็ดโกโก้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับโกโก้ มาตรฐานนี้ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับโกโก้ ตั้งแต่การจัดการในแปลงปลูกจนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผล และเมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมต่อการแปรรูปเพื่อบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสุขภาพความปลอดภัย และสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

3.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนสารพิษจากราในธัญพืช เป็นการกำหนดหลักปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตธัญพืชและผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการเก็บเกี่ยว ระหว่างการเก็บเกี่ยว หลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การขนส่ง การแปรรูป และการกระจายสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันและลดการปนเปื้อนสารพิษจากรา

4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มไหมชนิดกินใบหม่อน (ทบทวน) ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคแมลง เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เช่น จิ้งหรีด หนอนไหม เป็นแมลงที่มีโปรตีนสูง การเลี้ยงไหมชนิดกินใบหม่อนนอกจากจะได้ผลผลิตเป็นรังไหมแล้ว ยังได้หนอนไหมและดักแด้ไหม ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานระบบการผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค มอกช. จึงได้ดำเนินการทบทวน มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตรังไหม โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “การปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มไหมชนิดกินใบหม่อน” และขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมทั้งรังไหมสดสำหรับนำไปแปรรูป หนอนไหมวัยอ่อนสำหรับนำไปเลี้ยงต่อ และหนอนไหมวัยแก่และดักแด้มีชีวิตสำหรับนำไปแปรรูปเพื่อการบริโภค

5.แนวทางการทดสอบความไวของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพสำหรับปศุสัตว์ ซึ่งมาตรฐานนี้ ใช้เป็นแนวทางการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพของแบคทีเรียที่แยกได้จากตัวอย่างในแต่ละขั้นตอนของโซ่การผลิตสัตว์เพื่อการบริโภค เพื่อให้ห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบความไวของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาในปศุสัตว์นำไปปรับใช้ให้มีความสอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับประกาศแผนปฏิบัติการสำหรับการดื้อยาต้านจุลชีพระดับโลกขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งระเบียบวิธีการทดสอบความไวของแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพของโคเด็กซ์ และองค์การสุขภาพสัตว์โลก

6.ห่วงโซ่การคุ้มครอง : ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน มาตรฐานนี้ครอบคลุมข้อกำหนดห่วงโซ่การคุ้มครองผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากกุ้งที่มาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล (มกษ.7401)  หรือมาตรฐานที่เทียบเท่า รวมถึงมาตรฐานที่ Global Sustainable Seafood Initiative (GSSI) ให้การยอมรับ หรือมาตรฐานที่ มกอช.ประกาศกำหนด ประกอบด้วย ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ผู้รับจ้างช่วงในห่วงโซ่อุปทาน  การแยกผลิตภัณฑ์ บุคลากร เอกสารและบันทึกข้อมูลสำหรับการตามสอบ การแสดงฉลาก และการกล่าวอ้าง การเก็บรักษาบันทึกข้อมูลเพื่อให้สามารถกล่าวอ้างและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากระบบการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน และผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลตามมาตรฐานนี้ ครอบคลุมกุ้งทะเลทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป