กรมชลประทาน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดพร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนฯ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่าปัจจุบัน (16 ธ.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 47,838 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,907ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,205 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 5,509 ล้าน ลบ.ม.มีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภค–บริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ปัจจุบัน (16ธ.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,452 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 864 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยให้เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2563/64 ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้เกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวนาปีได้ล่าช้า กรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยพร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลผลิตทางการเกษตรที่อาจเสียหาย