ชป.ศรีสะเกษ จับมือ ปปช.ศรีสะเกษ ลุยแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่อ่างฯ 4 แห่ง

0
31779

โครงการชลประทานศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ชมรม strong (สตรอง)จิตพอเพียงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน กรณีมีกลุ่มนายทุนและราษฎรบุกรุกเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 4 แห่ง

นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ร่วมประชุมหารือกับสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 3 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ชมรม strong(สตรอง)จิตพอเพียงฯจังหวัดศรีสะเกษ และกองทัพภาคที่ 2 โดยมีนางสาวอภินัทธ์ พัฒนากรสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานฯ

ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหากรณีที่มีผู้บุกรุกพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา และอ่างเก็บน้ำโอตาลัต จากการตรวจสอบ พบว่ามีผู้บุกรุกรวมทั้งสิ้น 103 ราย แยกเป็นกลุ่มนายทุน 6 รายและกลุ่มราษฎร 97 ราย โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้รายงานผลการปฎิบัติงานตามคำสั่งจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีนายอำเภอภูสิงห์ เป็นประธานฯ เพื่อให้รับทราบผลการตรวจสอบ ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงรายงานผลการดำเนินการตามข้อตกลงกับสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค3 ซึ่งในที่ประชุมหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ต่างแสดงความชื่นชมที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรมสำหรับการตรวจสอบผู้บุกรุกอ่างฯ ในครั้งนี้ โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ใช้เครื่องมือ “สแกน&คลิ๊ก รู้เขตชลประทาน” ที่ได้รับรางวัล ผลงานนวัตกรรมดีเด่น กรมชลประทาน พ.ศ. 2565 (RID Innovation Award 2022) นำมาประยุกต์ในการตรวจสอบแนวเขตดังกล่าว

จากนั้น ในช่วงบ่ายคณะทั้งหมดรวมถึงสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อำเภอภูสิงห์ เพื่อตรวจสอบบริเวณที่มีราษฎรทำการบุกรุกเพื่อทำการค้า โดยบริเวณดังกล่าวโครงการประทานศรีสะเกษ ได้ตรวจสอบเมื่อปี 2562 พบว่าอาจมีการบุกรุก เนื่องจากมีหมุดหลักฐานไม่ชัดเจน จึงตั้งแผนงานการซ่อมแซมหลักเขต และต่อมาได้ดำเนินการซ่อมแซมหลักเขตในปี 2563 จนแล้วเสร็จ จึงพบว่าบริเวณดังกล่าวมีการบุกรุกโดยมีการก่อสร้างอาคารบ้านพักและร้านอาหาร และได้สำรวจผู้บุกรุกทั้งหมดพบว่ามีราษฎรบุกรุกอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญจำนวนทั้งสิ้น 39 ราย แยกเป็นกลุ่มนายทุน 2 รายและกลุ่มราษฎร 37 ราย ได้มีการตักเตือนและรายงานกรมชลประทานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งดังกล่าว เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อในด้านการชลประทาน รวมถึงเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ดังนั้นการดำเนินการทางด้านกฎหมาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรมป่าไม้ ทั้งนี้โครงการฯ จะได้ประสานทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับจังหวัดศรีสะเกษต่อไป