ชป.เร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน บูรณาการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน

0
8260

กรมชลประทาน มีนโยบายให้ทุกสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามแนวทาง RID No.1 Express ในการเร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (Joint Management committee for Irrigation : JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้เกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน และหน่วยงานราชการ  ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้น้ำและการบำรุงรักษา เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการ การทำงานระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ชลประทาน

ดร.ทองเปลว  กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกสำนักงานชลประทานทั่วประเทศเร่งรัดจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทานเพื่อบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนอาทิ สำนักงานชลประทานที่ 6 ดูแลพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคอีสาน (ขอนแก่น, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด) ในปี 2563 มีคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) จำนวน 40 คณะ และมีแผนในการจัดตั้งเพิ่มอีกจำนวน 11 คณะ ซึ่งปัจจุบันทำการจัดตั้งไปแล้ว 5 คณะ สำหรับอาสาสมัครชลประทานในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 6 ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 318 ราย ทั้งนี้ยังได้จัดให้มีการประชุมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานชลประทาน และทำความเข้าใจ ชี้แจงสถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีบทบาทและมีความเข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ เกิดการเรียนรู้ และมีข้อสรุปการบริหารจัดการน้ำร่วมกันแบบบูรณาการ

        นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมปรับแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง ปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างแรงจูงใจในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ถูกต้องและสามารถนำไปประยุกต์เพื่อทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดอบรมแล้วเสร็จตามแผนครบแล้วจำนวน 32 รุ่น


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามผลการดำเนินการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรและองค์กรส่วนท้องถิ่นมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีบทบาทและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะทำให้การจัดสรรน้ำทั่วถึงเพียงพอ ระบบชลประทานมีการบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ดีและยาวนาน เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการชลประทานอย่างเต็มที่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อันเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการชลประทาน