ปริมาณผลผลิตหมูที่เสียหายกว่า 10% จากภาวะร้อนแล้งผนวกกับอากาศแปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนปัญหาใหญ่ที่คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญ
ตัวเลขนี้ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง จำนวนหมูที่สามารถจับออกขายได้น้อยลง ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นเพราะตัวเฉลี่ยต้นทุนลดลง หมูกินอาหารไปแล้วแต่ต้องสูญเสียระหว่างการเลี้ยง เท่ากับที่เลี้ยงมาสูญเปล่า เพราะอากาศร้อนและแปรปรวนตลอดทั้งวันในปัจจุบัน บางพื้นที่ร้อนอบอ้าวจนถึงมีฝนตกจากพายุฤดูร้อน ทำให้สัตว์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน หากเกิดกับแม่อุ้มท้องทำให้ลูกแท้งได้หรือจำนวนลูกมีชีวิตแรกคลอดลดลง ส่วนในหมูขุนจะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นและโตช้า จากความเครียด ที่ทำให้กินอาหารน้อยลง ลูกหมูอ่อนแอ การสร้างภูมิคุ้มกันลดลงสุกรจึงเกิดป่วยง่ายขึ้น โตไม่สม่ำเสมอ ค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าอาหารและค่าเวชภัณฑ์เพื่อการดูแลหมูจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่คุกคามทุกพื้นที่ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา เป็นอีกปัญหาหนักที่เกษตรกรต้องรับมือ อย่างเช่นที่ เสน่ห์ นัยเนตร ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก จำกัด เปิดเผยไว้ว่า หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 2-3% พบว่าเกษตรกรต้องจ่ายเงินซื้อน้ำเพิ่มถึง 200 บาทต่อตัว และหากเดือนมิถุนายนนี้ ยังไม่มีฝนใหญ่เข้ามาเกษตรกรต้องทุกข์กันหมด เพราะรถขายน้ำไม่มีน้ำมาขาย นอกจากนี้ความร้อนแล้งยังมีค่าไฟเพิ่มเป็นภาระต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับ เพราะต้องเปิดพัดลมระบายอากาศและเดินระบบอีแวปตลอดเวลา
ยังไม่นับค่าใช้จ่ายเรื่องการป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่เกษตรกรทั้งประเทศต้องร่วมใจกันดำเนินการจนกลายเป็น “ความปกติใหม่” หรือ New Normal ของคนเลี้ยงหมูที่ต้องทำเพื่อยกระดับการป้องกันโรค ซึ่งความพยายามในการตั้งป้อมปราการป้องกันที่เข้มแข็งของเกษตรกรทุกคน ก็ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ปลอดโรคนี้ แม้ว่าต้องมีต้นทุนเพิ่มแต่เกษตรกรก็ยินดีปฏิบัติตามมาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ภาครัฐแนะนำ เกษตรกรยอมเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกกว่า 100 บาทต่อตัว สำหรับจากการใช้ยาฆ่าเชื้อพ่นป้องกันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และค่าน้ำค่าไฟ ค่าแรงงานที่ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันโรค
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพง ทั้งปลายข้าวที่ราคาสูงกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม และรำข้าวราคา 10-11 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นภาระหนักมากสำหรับคนเลี้ยง จากต้นทุนการผลิตปัจจุบัน 65-67 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถขายหมูหน้าฟาร์มได้เพียง 66-71 บาทต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาหมูล้นตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องล้มหายไปจากระบบมากกว่า 50% บางรายตัดสินใจลดปริมาณการเลี้ยงลง และผู้เลี้ยงแม่พันธุ์ต้องปลดแม่พันธุ์ทิ้งราว 20-30% จากปริมาณทั้งหมด แต่เกษตรกรทั้งประเทศยังร่วมกันบริหารจัดการทั้งระบบ เพื่อให้ไทยยังคงมีประชากรหมูเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และถึงแม้ภาระต้นทุนสูงจากหลากหลายปัญหาจะถาโถมเข้ามา แต่คนเลี้ยงหมูยังคงพยายามประคับประคองอาชีพเดียวของพวกเขาให้เดินหน้าต่อ เพื่อไม่ให้คนไทยต้องขาดแคลนเนื้อหมูบริโภคอย่างที่หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาอยู่ จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ทำให้หมูในหลายประเทศมีราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
แต่สำหรับหมูไทย แม้จะมีราคาขยับขึ้นบ้างตามการบริโภคและปริมาณผลผลิตหมูในแต่ละช่วง แต่ก็เป็นราคาที่ถูกที่สุดในภูมิภาค ทั้งๆที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากทุกปัจจัยที่รุมเร้า … วันนี้คงต้องอาศัยความเข้าใจด้านกลไกตลาดของผู้บริโภค…ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีแรงเลี้ยงหมูต่อไป