มกอช, จับมือ 3 หน่วยงาน ติวเข้มการรับรองระบบงาน สร้างการมาตรฐานเพื่อก้าวต่อไปของอนาคตที่ยั่งยืน หนุนองค์กรพร้อมปรับตัวให้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

0
62142

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทรนด์ “เรื่องของความยั่งยืน” กำลังมาแรงในตอนนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทำให้หลายประเทศตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจต่อการลดกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลเร่งให้เกิดสภาวะโลกร้อน ดังนั้น องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (The International Accreditation Forum: IAF) จึงได้ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานหลายๆ ฉบับ รวมทั้งมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งมุ่งเน้นให้ทุกองค์กรที่นำมาตรฐานไปปฏิบัติ มีการดำเนินการที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาและปรับปรุงภาคการเกษตร ให้คำนึงถึงการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงานในหลายด้าน ได้แก่  1.การใช้ BCG Model มาใช้ในการพัฒนาเกษตรกรรม 2.การส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.การสนับสนุนการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์การเกษตรและเพิ่มช่องทางขยายตลาด 4.การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร

ที่ผ่านมา มกอช.ได้มีการนำเอานโยบายด้านความมั่นคงยั่งยืน มาดำเนินการขับเคลื่อนองค์กร โดยออกมาตรฐานมาให้ตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำเกษตรมีความมั่นคง ได้แก่ การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ข้าวยั่งยืน ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลยั่งยืน และที่อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอีกเรื่องหนึ่ง คือ การผลิตพืชแบบไม่เผา (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)

ทั้งนี้ มกอช.  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการรับรองระบบงานของไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงร่วมการรับรองระบบงานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน IAF และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการประสานงานการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation : ILAC) ซึ่งส่งผลให้การรับรองระบบงานหน่วยรับรอง หน่วยตรวจและห้องปฏิบัติการของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับจากประเทศสมาชิก นับว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบการรับรองของประเทศไทยโดยรวม และเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาทำความตกลงให้มีการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement : MRA) กับประเทศคู่ค้ารวมถึงการดำเนินการในเรื่องของเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) กับต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้า และบริการของไทยในตลาดโลก

ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดโครงการสัมมนาเนื่องในวันรับรองระบบงานโลก (World Accreditation Day) “Empowering Tomorrow and Shaping the Future” เพื่อสร้างความตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการดำเนินงานด้านการรับรองระบบงานในประเทศไทยแบบเครือข่ายเดียว (Single platform) และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสถานการณ์เกี่ยวกับการมาตรฐาน

“ถือเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 4 หน่วยงาน จะได้รับทราบการดำเนินงานรับรองระบบงานของประเทศไทย ร่วมเสริมสร้างการมาตรฐานเพื่อก้าวต่อไปของอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อให้แต่ละองค์กรได้เตรียมปรับตัวให้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าว