รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมปฐมนิเทศโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จ.อุบลราชธานี

0
7251

วันนี้ (7 สิงหาคม 2563) เวลา 09.30 น. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุม และนางสาวธนกร จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล หน่วยงานในสังกัดชลประทาน ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชนในพื้นที่โครงการ และสื่อมวลชน ร่วมกันพิจารณารายละเอียดการศึกษาโครงการ รวมถึงแผนการดำเนินงานด้านการมีส่วนรวมของประชาชนที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเทล แอน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ซึ่งการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ และขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการศึกษา ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของโครงการฯ โดมน้อย และแนวทางการศึกษาปรับปรุง โครงการฯ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชน และกรมชลประทาน อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในอนาคต

สำหรับโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี สืบเนื่องจากโครงการชลประทานโดมน้อย เป็นโครงการชลประทานประเภทสูบน้ำด้วยไฟฟ้า มีเขื่อนสิรินธรเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยเริ่มส่งน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีพื้นที่ ชลประทาน 183,044 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบล ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้แก่ ตำบล โพธิ์ไทร กุดชมพู ไร่ใต้ นาโพธิ์ อ่างศิลา หนองบัวฮี บ้านแขมโนนกลาง และดอนจิก และ 2 ตำบลในเขตอำเภอสิรินธร ได้แก่ ตำบลคันไร่ และฝางคำ โดยโครงการได้ดำเนินการส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรมานานกว่า 43 ปี สร้างโอกาสและมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การบริหารจัดการน้ำไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากระบบชลประทานและอาคารได้ก่อสร้างมาเป็นเวลานาน องค์ประกอบระบบชลประทานบางส่วนไม่สมบูรณ์ดังเดิม ถึงแม้โครงการจะได้ดำเนินการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ยังขาดการวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาในองค์รวมอย่างยั่งยืน รวมถึงเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบการผลิต

กรมชลประทานจึงได้มีการทบทวนเพื่อวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพโครงการให้ได้เต็มประสิทธิภาพของโครงการ ลดการสูญเสียน้ำในระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการศึกษาจัดทำรายละเอียดและแผนงานปรับปรุงโครงการฯ เพื่อให้โครงการสามารถบริหารจัดการให้รองรับปัญหาด้านน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ