สทนช.เล็งงานวิจัยทีมวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ
หวังแลกเปลี่ยนความร่วมมือภายใต้กรอบแม่โขง-มิสซิสซิปปีสทนช.เล็งดึงงานวิจัยจากองค์กรวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้กรอบแม่โขง-มิสซิสซิปปี รูปแบบกฏหมายพิเศษที่เอื้อต่อการบริหารจัดการ การสร้างความเข้าใจประชาชน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย หวังเสริมศักยภาพการจัดการน้ำท่วมร่วมกับประเทศสมาชิก ชิงเสริมเขี้ยวเล็บไทยนั่งประธานคณะกรรมการร่วม MRC ปีหน้า
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสร่วมหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือ พร้อมเยี่ยมชมภารกิจด้านการป้องกันน้ำท่วมขององค์กรวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ (US Army Corps of Engineers) ณ เมือง
นิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลแม่น้ำโขงและแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mekong-Mississippi River Commission Exchange หรือ M2RC Exchange) ในฐานะเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการเเม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และผู้แทนถาวรไทยในคณะทำงานทางวิชาการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย นายปรีชา สุขกล่ำ
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สทนช. และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้แก่ กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม ว่า การหารือครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำระหว่างกัน โดยได้ถอดบทเรียนพายุเฮอริเคน Katrina ซึ่งก่อให้น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2005 และก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแก่ชาวเมืองนิวร์ออร์ลีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 81 พันล้านดอลล่าสหรัฐ มีผู้สญหายและเสียชีวิตประมาณ 2000 คน บทเรียนดังกล่าวทำให้ภารกิจของ องค์กรวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ ต้องออกแบบ ก่อสร้าง โครงการป้องกันน้ำท่วม การสร้างทำนบและกำแพงป้องกันน้ำท่วมและคลื่นพายุซัดฝั่ง โดยใช้งบลงทุนกว่า 14.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้งการขุดคลองลัดเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบและแม่น้ำมิสซิสซิปปี โดยการดำเนินการมีทั้งการใช้กฏหมายพิเศษ และหารือสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับโดยผ่านความร่วมมือทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาลกลาง และท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งการหารือและการดูงานในครั้งนี้ในลุ่มน้ำโขงจะนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานคณะกรรมการร่วมของ MRC จึงต้องเร่งแสวงหาความร่วมมือในงานวิจัยจากองค์กรวิศวกรกองทัพสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแล้วยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้เกิดความยอมรับในการพัฒนาที่สามารถใช้งานอย่างยั่งยืนด้วย
ขณะเดียวกัน สทนช.และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ยังได้ให้ข้อมูลถึงการเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการแม่น้ำโขงระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความร่วมมือภายใต้ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเชิงเทคนิคของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยมีสาระสำคัญใน 4 ประเด็นด้วยกันคือ 1. ประเทศสมาชิก MRC ได้เน้นย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ การพยากรณ์และประเมินผลกระทบ ตลอดจนเป็นข้อมูลสำคัญในการแจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ สำหรับการปรับตัวในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นในการประสานข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ยังใช้ช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้นด้วย 2. การแจ้งข้อมูลการระบายน้ำกรณีฉุกเฉินจากเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำจะมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ประเทศท้ายน้ำมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ การแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงทีมากขึ้น อาทิ กรณีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงของจีน ที่จะมีการปรับช่วงเวลาการแจ้งมายังประเทศสมาชิกล่วงหน้าอย่างเหมาะสม 3. กรณีใดที่เป็นสภาวะฉุกเฉิน จะมีการประสานงานผ่านช่องทางการทูตและหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ 4. ประเทศสมาชิกจะมีการทบทวนกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เพื่อให้การดำเนินความร่วมมือเกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมให้มีกิจกรรม “การศึกษาวิจัยร่วม (Joint Study)” อันจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศสมาชิกในประเด็นต่างๆ อาทิ ความจำเป็นและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ผลกระทบจากการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการและระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำที่มีนัยสำคัญต่อระบบของแม่น้ำโขง.
21 สิงหาคม 2562
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ