เกษตรกรมีอาชีพเดียว ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด วอนผู้บริโภคเข้าใจ

0
6954

ราคาสินค้าเกษตร เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่กระทบกับปากท้องต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในยามที่มีวิกฤติหรือสถานการณ์ผิดปกติ อย่างช่วงหลังคลายล็อคดาวน์ ราคาสินค้าหลายตัวเริ่มขยับตัวขึ้นจากความต้องการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับเนื้อหมูกำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ เดือดร้อนถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่กลายเป็นจำเลยซ้ำรอยผู้เลี้ยงไก่ไข่ว่าเป็นต้นเหตุของหมูแพง

สาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูในตลาดปรับเพิ่มขึ้นในขณะนี้ น่าจะมาจากความต้องการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่กลับมาเปิดดำเนินการ ผนวกกับโรงเรียนเปิดเทอม ทำให้ความต้องการเนื้อหมูในประเทศจึงฟื้นตัวตาม ทำให้เนื้อหมูหน้าเขียงปรับตัวสูงขึ้นในประวัติการณ์ ลามไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหารต่างปรับราคาอาหาร กลายเป็นซ้ำเติมคนไทยที่มีเงินในกระเป๋าน้อยกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรเลี้ยงหมูทั่วประเทศต่างยืนยันว่าจะช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้ขาดแคลนเนื้อหมู หรือราคาปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพของผู้คนที่ยังอยู่ในภาวะความไม่แน่นอนสูงมาก โดยในขณะนี้ เกษตรกรขายราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ในระดับ 78-79 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไม่ให้ไม่เกินระดับที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศได้ประกาศขอความร่วมมือกับเกษตรกรทั่วประเทศให้ขายในระดับราคานี้มาโดยตลอด ตามที่ให้คำมั่นกับกรมการค้าภายในที่ต้องดูแลผู้บริโภค ซึ่งหากไปสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต่างบอกว่าระดับราคาที่ปรับขึ้นนี้ ก็เพียงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรพออยู่ได้ พอต่อลมหายใจให้เกษตรกรคนเลี้ยงหมูกว่า 2 แสนรายได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากราคาหมูตกต่ำตลอดในช่วงที่ประเทศประกาศล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทุกอย่างเพื่อหยุดเชื้อ และช่วยปลดแอกภาระการขาดทุนสะสมที่เกษตรกรต้องเลี้ยงหมูแบกมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ไม่ต้องล้มหายตายจากไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงช่วยคนเลี้ยงหมูให้ “ไปต่อ” ได้เท่านั้น

ต้นทุนการเลี้ยงหมูในวันนี้อยู่ที่ 71 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศยังอยู่ระหว่างการทำสงครามต่อสู้กับ โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก่อนหน้านี้ ช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด เกษตรกรที่เลี้ยงหมูขาดทุนอย่างหนักมาหลายเดือน เพราะราคาตกต่ำมาก

ที่ผ่านมามีความวิตกกังวลเรื่องโรค ASF ในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ เกษตรกรทุกคนต่างเข้าเลี้ยงสุกรอย่างระมัดระวัง พบว่าสุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 20% จากเดิมในปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20 ล้านตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท แต่ทุกคนยินดีดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้มาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ในห่วงโซ่ ทั้งยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ต้องได้รับความเดือดร้อนเหมือนกับประเทศอื่นในภูมิภาค

เพราะเกิดภาวะขาดแคลนหมูจากโรคระบาด ASF ในสุกร จนทำให้ปริมาณหมูในประเทศเหล่านี้ลดหายไปจำนวนมาก

แต่ถึงอย่างไรราคาหมูไทยก็ไม่ได้สูงไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และปริมาณหมูก็มีมากเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ เปรียบเทียบกับหมูเป็นหน้าฟาร์มในประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง กัมพูชาขายอยู่ที่ระดับราคาร่วม 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเวียดนามราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 110 บาท ส่วนในประเทศจีนที่ในขณะนี้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่สูงกว่า 140 บาท คิดง่ายๆ คนในประเทศเหล่านี้ต่างต้องทานเนื้อหมูในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าฟาร์มประมาณ 2 เท่า

และที่สำคัญ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยทุกคนต่างตระหนักดีว่าต้องร่วมไม้ร่วมมือไม่ให้ผู้บริโภคต้องเดือดร้อนเพราะขาดแคลนเนื้อหมู ทั้งเน้นการป้องกันโรคอย่างแข็งขัน จนช่วยให้ที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในภูมิภาคที่ปลอดจาก ASF และไม่เคยขาดแคลนหมูเหมือนประเทศอื่นๆ รวมทั้งยังช่วยกันประคับประคองราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มให้ไม่สูงจนผิดปกติ เพราะผู้เลี้ยงหมูต่างรู้ดีว่าตัวเองมีเพียงอาชีพเดียวในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย สามารถเลือกซื้อหาอาหารรับประทานแทนหมูได้ ทั้งปลา ปู กุ้ง ไก่ ไข่ หรืออาหารโปรตีนแทนได้อย่างไม่จำกัด ดังนั้น ผู้เลี้ยงหมูย่อมไม่ทำลายอาชีพตัวเอง ด้วยการฉวยโอกาสแค่ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว แต่สุดท้ายวกกลับมาทำลายอาชีพตัวเองจนเจ๊งพังพาบไป