กรมการจัดหางาน ประกาศ เดินหน้า จับแรงงานต่างด้าว แย่งอาชีพคนไทย

0
4623

กรมการจัดหางาน ประกาศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง จับแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย ทั่วประเทศ ล่าสุดจับแล้ว 1,763 คน เตือน!! ขายของหน้าร้าน เร่ขายสินค้า เป็นอาชีพที่แรงงานต่างด้าวทำไม่ได้

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย โดยไม่นิ่งนอนใจ พร้อมสั่งการให้กรมการจัดหางาน บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น

“ ล่าสุดได้จับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพ ไปแล้ว 1,763 คน พบลักลอบทำงานขายของหน้าร้านมากที่สุด จำนวน 1,170คน รองลงมาเป็นงานเร่ขายสินค้า 321 คน และงานอื่นๆ จำนวน 272 คน ได้แก่ งานจำหน่ายอาหาร (คนต่างด้าวเป็นเจ้าของเอง) นวดแผนไทย งานบริการ (คาราโอเกะ) งานเสริมสวย ขับขี่ยานพาหนะ (วินมอเตอร์ไซค์) งานก่ออิฐช่างไม้หรืองานก่อสร้างอื่น พนักงานรักษาความปลอดภัย งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 1,000 คน รองลงมาเป็นเวียดนาม 171 คน ลาว 162 คน กัมพูชา 151 คน อินเดีย 37 คน จีน 5 คน และอื่นๆ 13 คน และได้เปรียบเทียบปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินค่าปรับ 7,695,000 บาท ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว จำนวน 1,539 คน

ในกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวไปแล้ว 2,718 คน ดำเนินคดีไปแล้ว 295 คน โดยถูกดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” นายสุชาติ ฯ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่พบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2354 1729 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป