กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดการน้ำชี – มูล หลังมวลน้ำเริ่มสูง คาดกลางพ.ย.แม่น้ำมูลกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

0
19340

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี – มูล ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี – มูล (ส่วนหน้า) จัดประชุมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการรับมือและติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี – มูลอย่างใกล้ชิด

ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ปรับแผนการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี – มูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่มีแนวโน้มจะเพิ่งสูงขึ้นอีกในช่วงนี้ จากข้อมูลสถานการณ์น้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่คาดการณ์ว่าน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำก้อนใหญ่ของทั้ง 2 ลำน้ำไหลมาบรรจบพร้อมกัน ซึ่งจะสร้างผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้เร่งระบายน้ำก้อนใหญ่ในแม่น้ำมูล ลงสู่แม่น้ำโขงก่อนเป็นลำดับแรก โดยเมื่อน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำชีไหลผ่านบริเวณสถานีวัดน้ำท่า M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี) จะเริ่มหน่วงน้ำในลำน้ำมูลตอนบน เพื่อลดยอดปริมาณน้ำสูงสุดที่จะไหลผ่านในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป

จากการคาดการณ์ระบุว่า มวลน้ำสูงสุดในลำน้ำมูล จากสถานีวัดน้ำท่า M.5 อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จะไหลมาถึงบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และคาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดในลำน้ำชี ที่ปัจจุบันไหลมาถึงสถานีวัดน้ำท่า E.2A อ.เมืองยโสธรแล้ว คาดว่าจะไหลมาถึงสถานี M.7 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบได้ ในขณะที่บริเวณสถานีวัดน้ำท่า M.7 เมื่อเวลา 06.00 น. ของวันนี้(29 ต.ค. 64) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,528 ลบ.ม./วินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤตและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้เร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลบริเวณแก่งสะพืออย่างเต็มที่ พร้อมกับเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมอีก 100 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำมูลให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังจะใช้เขื่อนหัวนา และเขื่อนราษีไศล ช่วยชะลอน้ำเพื่อรองรับน้ำจากลำน้ำชีอีกด้วย จะช่วยลดปริมาณน้ำและบรรเทาผลกระทบได้พอสมควร หากไม่มีพายุหรือฝนตกหนักเพิ่มเติม

คาดว่าแม่น้ำมูลจะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยง ใกล้ริมตลิ่ง และพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่ หากพบปัญหาสามารถแจ้งไปยังโครงการชลประทานจังหวัดใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา