กรมชลฯเร่งสร้างความเข้าใจ แล้งนี้น้ำน้อย!!วอนใช้น้ำอย่างประหยัด

0
3272

ากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้งที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำไหลเข้าน้อยลงตามไปด้วย  

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความแห้งแล้ง ซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ภายใต้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจำเป็นต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศก่อนเป็นอันดับต้นๆ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมสำหรับเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

อาทิ โครงการชลประทานอ่างทอง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์นโยบายการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกร ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ให้ลดพื้นที่ทำนาปรัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อพืชผลเสียหายจากการขาดน้ำ

.

ที่จังหวัดชัยนาท โครงการชลประทานชัยนาท ร่วมกับนายอำเภอวัดสิงห์  ได้ลงพื้นที่ไปติดตามการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ในเขตชลประทานทุ่งวัดสิงห์ เพื่อให้การส่งน้ำเป็นไปตามรอบเวรที่กำหนดขึ้น  โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี

.

ด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอผักไห่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรลดการเพาะปลูกข้าวนาปรังบริเวณทุ่งผักไห่ เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำ ในฤดูแล้งของกรมชลประทาน

ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้ทุกพื้นที่จัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำในระบบชลประทาน ตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ ในภาวะปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง รวมไปถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย