กรมชลฯ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ หลังอุตุฯประกาศเข้าฤดูฝน 2563

0
6439

กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 คาดว่าปีนี้จะมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่จะตกมากกว่าปีที่ผ่านมา เน้นบริหารจัดการน้ำเพื่อกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ตลอดทั้งปี และเตรียมพร้อมอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทานเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่ายSWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 63

สภาพอากาศเนื่องจากพายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 20-21 พ.ค. 2563 ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(19 พ.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,956 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,293 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 42,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,228 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,532 ล้าน ลบ.ม. ด้านการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (19 พ.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,647 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้

กรมชลประทาน ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมความพร้อมทั้งด้านเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม รวมทั้งอาคารชลประทาน และประตูระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา โดยระยะนี้ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ค่อข้างดี จะเน้อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนควบคู่ไปกับการระบายน้ำ จะต้องไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ นอกจากนี้ ยังให้สำรวจและจัดเก็บวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เพื่อปริมาณน้ำจะสามารถไหลได้สะดวก ส่วนด้านการเพาะปลูกแม้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกโดยคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำของตนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบกับปริมาณฝนตกสม่ำเสมอก่อน เนื่องจากน้ำชลประทานจะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จะใช้ด้านการเกษตรก็ต่อเมื่อเกิดฝนทิ้งช่วงเท่านั้น