กรมชล เข้ม..สั่งชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ รับมือฝนตกหนัก

0
16929

กรมชลประทาน ย้ำโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกกระจายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก พร้อมเร่งเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้งหน้าให้ได้มากที่สุด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า นับจากนี้เป็นต้นไปจะมีปริมาณฝนตกกระจายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศรวมทั้งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานและเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ


ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน( 6 ก.ย 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,608 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 16,679 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 35,459 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 2,081 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนให้อยู่ในเกณฑ์น้อยที่สุด เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้งหน้า พร้อมขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรให้งดทำนาต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย


สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วันนี้(6 ก.ย. 64) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 936 ลบ.ม./วินาที สมทบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง 56 ลบ.ม/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 633 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ตั้งแต่อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึงพื้นที่ ต.กระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้ประสานไปจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที หากจะมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้หน่วยงานและประชาชนทราบก่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด สำหรับไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)