กรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเมืองอุบล

0
1541

 

ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเมืองอุบล มอบปัจจัยการผลิต ช่วยสร้างรายได้หลังน้ำลด

กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจความเสียหายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว บูรณาการหน่วยงานฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก พร้อมแนะวิธีการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายหลังน้ำลด

ภายหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมจากผลกระทบของพายุโพดุลและคาจิกิในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเริ่มคลี่คลาย ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกคนมีความห่วงใยพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วม และกำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามภารกิจของตนเองอย่างเต็มที่และรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ และมอบปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัย พร้อมเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบ

ในช่วงบ่าย นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ลงพื้นที่ตำบลจิกเทิง อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้กำลังใจและมอบพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์พืช และเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 250 ราย โดยอำเภอตาลสุม มีพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบ จำนวน 4 ตำบล ประมาณร้อยละ 14.15 ของพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำทั้งจากลำเซบก และลำน้ำมูล มีครัวเรือนเกษตรกรได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประมาณร้อยละ 27.35

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากจะมีภารกิจในการสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตร เพื่อเร่งรัดการจ่ายเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้วยังภารกิจในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและให้คำแนะนำในการฟื้นฟูดูแลด้านพืชให้กับเกษตรกร เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในช่วงฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกหลังน้ำลดด้วย  จึงได้แนะนำวิธีการปลูก “ผักยกแคร่” ให้เกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ โดยการปลูก “ผักยกแคร่”  เป็นการปลูกผักบนแคร่ไม้ไผ่ ขนาด 1.2x2.4x1.0 เมตร ที่ทำยกสูงจากพื้นดิน สามารถยกเคลื่อนย้ายได้สะดวก ทำให้เป็นวิธีปลูกพืชที่เหมาะจะใช้ในภาวะน้ำท่วม ซึ่งเกษตรกรจะมีอาหารยังชีพในภาวะน้ำท่วม และยังสามารถสร้างรายได้ในระหว่างฟื้นฟูดินในพื้นที่เพาะปลูกภายหลังน้ำลด สามารถปลูกและดูแลรักษาง่าย ปลูกผักได้หลายชนิด ปลอดภัยจากสารพิษ ให้ผลผลิตเร็ว และได้ผลตอบแทนสูงสำหรับพืชบางชนิด เช่น จิงจูฉ่าย เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ  30 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 1,570 บาท/แคร่ ในขณะที่มีต้นทุนประมาณ 900 – 1,200 บาท/แคร่ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้และชนิดของพืช เป็นต้น 

สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการปลูกผักยกแคร่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร โทร 02 940 6059 ในวันและเวลาราชการ

#AllnewsExpress