กรมหม่อนไหมแนะเกษตรกรทำสาวหม่อน ควบคุมคุณภาพการผลิตใบหม่อนได้ตลอดปี

0
5385

กรมหม่อนไหมแนะเกษตรกรทำสาวหม่อนไหม หรือตัดแต่งกิ่งหม่อนหรือต้นหม่อนให้ติดชิดพื้นดินทุกครั้งที่ตัดเพื่อเตรียมใบหม่อนปีละประมาณ 4 ครั้ง ในช่วงเวลา 1 ปี เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตใบหม่อนไหมได้ตลอดทั้งปี และสามารถวางแผนการเลี้ยงไหมได้แน่นอนและมีประสิทธิภาพ

นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ในการดูแลแปลงหม่อน การตัดแต่งกิ่งหม่อนหรือต้นหม่อน หรือที่เรียกว่าการทำสาวหม่อนนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพ การปลูกหม่อนต้องมีการเตรียมแปลงหม่อน หรือการทำสาวหม่อน หรือการตัดแต่งกิ่งหม่อนหรือต้นหม่อน โดยต้องตัดให้ติดชิดพื้นดิน เพื่อควบคุมการผลิตใบหม่อนให้เพียงพอและมีคุณภาพที่เหมาะสมกับการเลี้ยงไหมได้ตลอดทั้งปี

โดยทั่วไปเกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งหม่อนเพื่อเตรียมใบหม่อนในการเลี้ยงไหมแต่ละครั้ง ปีละ 3-4 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้ต้นหรือกิ่งหม่อนเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ซึ่งการตัดแต่งกิ่งหม่อน ทั้ง 4 ครั้ง มีการเรียงลำดับดังนี้คือ การตัดแต่งกิ่งครั้ง ที่ 1 เรียกว่าตัดต่ำ โดยตัดหม่อนไว้ตอสูงจากพื้นดิน 30-50 เซนติเมตร ปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตนาน 2.5-3 เดือน การตัดแต่งกิ่งหม่อนครั้งที่ 2 เรียกว่าตัดกลาง เพื่อนำใบไปเลี้ยงไหม จะตัดหม่อนสูงจากพื้นดิน 80-100 เซนติเมตร แล้วปล่อยให้หม่อนเจริญเติบโตนาน 2.5 เดือน การตัดแต่งกิ่งหม่อนครั้งที่ 3 เรียกว่าตัดแขนงครั้งที่ 1 เพื่อนำใบไปเลี้ยงไหม ครั้งที่ 2 ทิ้งไว้อีก 2.5 เดือน และ การตัดแต่งกิ่งหม่อนครั้งที่ 4 เรียกว่าตัดแขนง ครั้งที่ 2 เพื่อนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมครั้งที่ 3 ทิ้งต้นหม่อนให้เจริญเติบโตต่อไปอีก 2.5 เดือน จะตัดหม่อนอีกครั้งเพื่อนำใบไปเลี้ยงไหมครั้งที่ 4 เป็นการตัดแต่งหม่อนครบรอบปี แล้วจะไปตัดต่ำอีกครั้งในปีถัดไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตัดต่ำในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงแล้งในเขตอาศัยน้ำฝน อาจทำให้ผลผลิตใบหม่อนที่ได้จากการตัดแต่งแต่ละครั้งไม่สม่ำเสมอหรือเท่ากันทุกครั้ง เนื่องจากวิธีการตัดแต่งที่แตกต่างกันปริมาณและความสม่ำเสมอของน้ำฝนที่หม่อนได้รับในแต่ช่วงของการตัดแต่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำสาวหม่อนเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้

ทั้งนี้ การทำสาวหม่อนคือการตัดแต่งกิ่งหม่อนหรือต้นหม่อนให้ติดชิดพื้นดินทุกครั้งที่ตัดเพื่อเตรียมใบหม่อนปีละประมาณ 4 ครั้ง และเพื่อให้ได้ปริมาณใบหม่อนใกล้เคียงกันทุกครั้ง ได้เปอร์เซ็นต์ใบสูงเหมาะสำหรับการเลี้ยงไหมเป็นกิ่งทำให้กากเหลือน้อย และได้กิ่งที่มีความยาวสม่ำเสมอ พอดีกับขนาดความกว้างของชั้นเลี้ยงไหม ทำให้สามารถวางแผนการเลี้ยงไหมได้แน่นอน ส่วนของงานผลิตพันธุ์คือการผลิตไข่ไหมก็จะมีข้อผิดพลาดน้อยในการเตรียมไข่ไหมให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร

อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การทำสาวหม่อนจะต้องมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ คือพันธุ์หม่อน ควรเป็นพันธุ์ที่มีการตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยดี ปัจจุบันแนะนำให้ใช้พันธุ์สกลนคร หรือพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ส่วนการปลูก อาจใช้กิ่งปักชำอายุ 3-4 เดือน แล้วย้ายปลูกในแปลงหรือใช้ท่อนพันธุ์อายุ 4-8 เดือน ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลูกในแปลงที่เตรียมดินด้วยการไถพรวนให้มีหน้าดินลึกประมาณ 40 เซนติเมตร โดยตรงให้มีระยะปลูก 1.0 x 1.0 เมตร จำนวน 10 แถว ติดกัน เว้นพื้นที่ระหว่างแปลงย่อยกว้าง 3.0 เมตร เพื่อให้รถ และเครื่องจักรเข้าทำงานได้สะดวก ดังนั้นในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้กิ่งปักชำ หรือท่อนพันธุ์ จำนวน 1,300 ต้น/ท่อน เหลือพื้นที่ทางเดินระหว่างแปลง 300 ตารางเมตร การให้น้ำ จะต้องมีมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 แรงม้า เพื่อใช้ปั้มน้ำสำหรับแปลงหม่อนนาด 4 ไร่ โดยจะให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 30 นาทีโดยการวางท่อน้ำพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว แล้วลดขนาดลงมาเหลือ 2 นิ้ว และ 1 นิ้วตามลำดับ แต่ละหัวให้น้ำแบบสปริงเกอร์ห่างกัน 4 เมตร ให้มีความสูงจากพื้น 2 เมตร การให้น้ำมักจะให้เพียง 4 เดือน ระหว่าง ธันวาคม – เมษายน หรือในช่วงฤดูฝนที่ฝนทิ้งช่วง นานเกิน 1 เดือน เนื่องจากมีการรักษาความชื้นของดินดี

สำหรับการรักษาความชื้นในดิน และการกำจัดวัชพืช จะมีการปราบวัชพืชด้วยการดาย หรือใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพียงครั้งเดียวในเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน จากนั้นจะใช้ฟางคลุมอย่างหลวมๆ ให้มีความหนาประมาณ 30-50 เซนติเมตรในช่วงธันวาคม เมื่อให้น้ำฟางจะยุบตัวลง แต่สามารถคุมวัชพืชได้ตลอดปี และรักษาความชื้นของดินได้ตลอดตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – พฤศจิกายน นอกจากนั้นในแปลงที่ปฏิบัติเช่นนี้จะพบไส้เดือนที่เป็นประโยชน์ในการช่วยปรับโครงสร้างของดินมากกว่าในแปลงหม่อนที่ดูแลตามปกติ ส่วนการใส่ปุ๋ย หลังการกำจัดวัชพืชต้องใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2000 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 จะใส่ 3 ครั้ง หลังการตัดแต่งเพื่อเก็บผลผลิต 3 ครั้ง อัตราครั้งละ 25 กิโลกรัม แต่จะไม่ใส่ปุ๋ยเคมี เมื่อครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยคอก สุดท้าย การตัดแต่ง จะต้องตัดชิดดินทุกครั้งห่างกันประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้ต้นหรือกิ่งหม่อนเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตใบ ประมาณ 1,040 กิโลกรัม/ไร่/ครั้ง หรือประมาณ 4,000 กิโลกรัม ไร่/ปี สามารถเลี้ยงไหมได้ครั้งละ 2 กล่อง หรือปีละ 8 กล่อง นอกจากนี้ การตัดแต่งกิ่งหม่อนนี้ยังช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูหม่อนด้วย

การทำสาวหม่อนนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่แปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ ต้นหม่อนจึงจะผลิตใบที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรายละเอียดและคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 02–558–7924 – 6 ต่อ 404