นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารในระดับสูงของโลก
การจัดทำระบบควบคุมยาสัตว์ตกค้าง สารพิษตกค้าง และสารปนเปื้อนในสัตว์และสินค้าสัตว์ ที่มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน และสอดคล้องตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าต่างๆ จะเป็นก้าวที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการรักษามาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรทางการค้ารวมถึงสหภาพยุโรป โดย มกอช. ในฐานะหน่วยงานประสานของไทยเพื่อการตรวจประเมินระบบควบคุมยาสัตว์ตกค้าง สารพิษตกค้าง และสารปนเปื้อนในสัตว์และสินค้าสัตว์ ณ ประเทศไทย ของคณะผู้ตรวจประเมินจากสหภาพยุโรป ได้ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในทุกขั้นตอน เพื่อยืนยันถึงความเข้มแข็งของระบบควบคุมตรวจสอบสารตกค้างและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดของไทย
ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจประเมินจากหน่วยงานด้านการตรวจประเมินและวิเคราะห์ด้านสุขภาพและอาหาร (Health and Food Audits and Analysis: HFAA) ภายใต้กรรมาธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยอาหาร (Directorate-General for Health and Food Safety : DG SANTE) ของสหภาพยุโรป มีกำหนดเดินทางมาตรวจประเมินสินค้าส่งออกสำคัญของไทยระหว่างวันที่ 4-14 กุมภาพันธ์ 2568 ครอบคลุมสินค้าสัตว์ปีก สัตว์น้ำ ไข่ และน้ำผึ้ง ตามที่ไทยได้รับการขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่สามที่สามารถส่งออกสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ ไปยังสหภาพยุโรปได้ตาม Annex-I แนบท้ายระเบียบ Commission Implementing Regulation (EU) 2021/405 และจะลงพื้นที่ตรวจสอบระบบการควบคุมการผลิตจนถึงส่งออกของหน่วยงานรับผิดชอบหลัก รวมถึงห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารตกค้างที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคของไทย
“การตรวจประเมินสารตกค้างครั้งนี้ มีบทบาทสำคัญต่อแนวทางการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยไปยังตลาดยุโรปในอนาคต โดยไทยมีการส่งออกสินค้าสัตว์ปีก น้ำผึ้ง และสัตว์น้ำ ไปสหภาพยุโรป ในปี 2567 มูลค่ารวมกันกว่า 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าสัตว์ปีก 20,000 ล้านบาท สินค้าประมง 13,000 ล้านบาท และน้ำผึ้ง 14 ล้านบาท ทั้งนี้ มกอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การตรวจประเมินเป็นไป อย่างราบรื่น และรักษาสิทธิ์การส่งออกของไทยต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าว