โดย ผศ.น.สพ.คัมภีร์ กอธีระกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสุกรในอาเซียนและจีน
ท่ามกลางความกังวลในสถานการณ์โควิดที่ยังคงมีการระบาดทั่วโลก และคาดว่าสถานการณ์น่าจะกลับสู่ปกติได้ในเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี สำหรับวงการหมูแล้วยังมีปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กัน กับการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่เล่นงานอุตสาหกรรมหมูในหลายประเทศตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา ทั้งในจีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา
ขณะที่ประเทศไทย ยังเป็นไข่แดงของภูมิภาคนี้ ที่รอดพ้นวิกฤติ ASF มาได้ จนกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังคงสถานะปลอดโรคจนถึงปัจจุบัน จากความร่วมมือกันป้องกันของทุกภาคส่วน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันอย่างดี สอดคล้องกับข้อมูลที่ FAO และ OIE ระบุไว้ว่า โรคนี้จะจบก็ต่อเมื่อมีความร่วมมือของ 4 ส่วน คือ กรมปศุสัตว์, กระทรวงมหาดไทย โดยฝ่ายความมั่นคง, สมาคมผู้เลี้ยงสุกร, วงการสัตวแพทย์และสัตวบาล ซึ่งประเทศไทยมีทั้ง 4 ภาคส่วนครบถ้วน และยังมีสายงานห้องปฏิบัติการเข้ามาร่วมสนับสนุน ถือเป็นความสำเร็จจากฝีมือของทุกคนที่นำเอาองค์ความรู้ทั้งด้านสัตวแพทย์และสัตวศาสตร์มาใช้เพื่อการณ์นี้ได้อย่างดี
หากแต่การที่ไทยพยายามสร้างป้อมปราการอันแข็งแกร่งสามารถป้องกันโรคนี้ได้สำเร็จมากว่า 2 ปี ก็ใช่ว่าชาวหมูจะนิ่งนอนใจได้ กลับต้องก่อกำแพงป้องกันที่หนาแน่นกว่าเดิม เพราะรอบบ้านเราโรคนี้ยังไม่ซาลง และยังพบการระบาดเป็นระลอก
วันนี้การ์ดที่เคยตั้งไว้สูงต้องไม่ตก การคุมเข้มเฝ้าระวังป้องกันโรคตลอดแนวชาวแดนต้องเข้มงวด แม้ว่าจะเบาใจในเรื่องการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่มากับนักท่องเที่ยวได้บ้างเนื่องจากปัญหาโควิดทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศต้องหยุดลง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทุกคนจะวางใจว่าโรคนี้จะไม่เล็ดรอดเข้ามา
ภาครัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันแบบเต็มรูปแบบเช่นที่เคยทำมา ทั้งเรื่องน้ำยาฆ่าเชื้อ และชุดตรวจทดสอบภาคสนาม เพื่อยับยั้งโรคในทันทีที่ตรวจพบโรค (early detection) ขณะเดียวกันต้องป้องกันการลักลอบนำเข้าหมูหรือซากหมูจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาได้เป็นอันขาด การตรวจสอบของภาครัฐจึงต้องเข้มข้น โดยเฉพาะตามแนวชายแดน
ส่วนเกษตรกรและผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยง ต้องปกป้องฟาร์มเลี้ยงและฝูงสุกร ด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Bio Security System) ที่สำคัญทุกคนต้องตระหนักเสมอว่า “ต้องมีความตื่นตัว ตระหนัก และเร่งกวดขันการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพ” ต้องปรับองค์ความรู้ให้สามารถแก้ทางเชื้อนี้ให้ได้ ให้รีบปรับแนวรับและอุดรูรั่วของฟาร์ม เสริมค่ายกลเรื่องไบโอซีเคียวริตี้เพื่อให้ป้องกันโรคได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะเกษตรกรที่เลี้ยงหมูหลังบ้าน ยิ่งต้องใส่ใจในการดูแลหมูให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการนำเศษอาหารมาเลี้ยงหมู หรือถ้าจำเป็นก็ต้องต้มอาหารให้สุก ในลักษณะที่ต้มแบบเดือดปุดๆ ใช้เวลาต้ม 20 นาทีขึ้นไป ก็ช่วยให้ปลอดภัยจากทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ทุกชนิด ที่ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก
สำหรับผู้บริโภคก็ไม่ต้องตระหนก แม้ว่าโรคนี้จะรุนแรงสำหรับอุตสาหกรรมหมู แต่ ASF ก็เป็นโรคที่ติดเฉพาะในหมูเท่านั้น ย้ำว่า “คนยังกินเนื้อหมูได้เป็นปกติไม่มีอันตรายใดๆ เนื้อหมูไทยปลอดภัย บริโภคได้ 100% และเนื้อหมูยังเป็นเนื้อสัตว์ที่อร่อยปลอดภัยมาตลอด” และการปรุงสุกที่สาธารณสุขแนะนำมาตลอด ก็ยังคงเป็นมาตรการที่ทุกคนพึงกระทำให้เป็นนิสัย เพราะอาหารปรุงสุกย่อมรับประทานได้อย่างปลอดภัย
สุดท้ายต้องย้ำว่าขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ยังคงต้องสร้างค่ายกลป้องกันโรคให้แน่นหนา เร่งระดมสรรพกำลัง ระดมสมอง … ขอเพียงแค่ “การ์ดไม่ตก” และหาแนวทางไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาทได้อย่างเด็ดขาด