คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ดันร่างมาตรฐาน “เส้นไหมดิบ-ฟาร์มผึ้งชันโรง-ปลากัดไทย” หวังยกระดับมาตรฐาน เพิ่มความเชื่อมั่น

0
26617

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับ พร้อมกับพิจารณายกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 4 เรื่อง ดังนี้ 1.เส้นไหมดิบ : เส้นไหมไทยสาวมือ 2.การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ : เส้นไหมไทยสาวมือ 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรง 4.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มปลากัด รวมทั้งเห็นชอบการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ระบบการจัดการด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับตลาดกลางสินค้าเกษตร และการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร การปรับปรุงคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเดิม เพื่อปรับปรุงข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย และกำหนดขนาดหรือลักษณะของกิจการฟาร์มไก่ไข่ และปางช้างให้ได้รับยกเว้นใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เพื่อลดภาระของผู้ผลิตรายย่อยในการเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าบริการตรวจสอบและรับรอง ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย

ส่วนร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องเส้นไหมดิบ : เส้นไหมไทยสาวมือ และการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ: เส้นไหมไทยสาวมือ เป็นการทบทวนปรับปรุงข้อกำหนดให้เหมาะสม ทันสมัยสอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมข้อกำหนดของการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตเส้นไหมดิบ ที่เป็นเส้นไหมไทยสาวมือชนิดไหมหนึ่ง ไหมสอง และไหมสาม จากรังไหมพันธุ์ไทยสีเหลืองของหนอนผีเสื้อ (Bombyx mori Linn.) ที่กินใบหม่อน โดยใช้อุปกรณ์สาวไหมแบบพื้นบ้าน อุปกรณ์สาวไหมแบบปรับปรุง หรือเครื่องสาวไหมขนาดเล็ก เพื่อให้ได้เส้นไหมดิบที่มีคุณภาพ

สำหรับมาตรฐานด้านปศุสัตว์ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้ง (มกษ.8200) แล้ว แต่เนื่องด้วยวิธีการจัดการการเลี้ยง การแยกขยายรัง รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลิตผลของผึ้งชันโรงที่แตกต่างไปจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงจึงไม่สามารถใช้มาตรฐานฯ ดังกล่าวเป็นแนวทางการปฏิบัติได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการเลี้ยงผึ้งชันโรงให้มีมาตรฐาน คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงเห็นควรให้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งชันโรง เพื่อส่งเสริมให้มีการเลี้ยงผึ้งชันโรงที่มีมาตรฐาน ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยมาตรฐานนี้จะครอบคลุมข้อกำหนด องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการในการเลี้ยงผึ้งชันโรง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางธรรมชาติ การจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์ การทำความสะอาดและบำรุงรักษาสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ บุคลากร  การจัดการสิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรงที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

มาตรฐานด้านประมง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มปลากัด ปลากัดไทยเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยไทยมีศักยภาพในการผลิตปลากัดที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด ซึ่งปี 2557-2561 มีปริมาณการส่งออกประมาณ 24 ล้านตัวต่อปี คิดเป็นมูลค่า 145 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไทยมีการส่งออกปลากัดไปกว่า 100 ประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน สิงคโปร์ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงมีมติจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับปลากัดไทย ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มปลากัด (Plakad หรือ Betta) ในวงศ์Osphronemidae สกุล Betta เช่น Betta splendens ที่มีชื่อสามัญว่า Siamese fighting fish ที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าสำหรับนันทนาการ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การจับและการดูแลหลังการจับ จนถึงการบรรจุ เพื่อจำหน่ายหรือเคลื่อนย้าย เพื่อให้ได้ปลากัดที่มีสุขภาพดี และมีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม