“จับคู่ธุรกิจกัญ และ เปิดตัวสมาคมกัญชงไทย”

0
25159

 

สมาคมกัญชงไทย ประสบความสำเร็จเกินคาด  ในการรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูก ผู้วิจัย ผู้พัฒนา ผู้แปรรูป และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับกัญชงให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ตั้งเป้าส่งเสริม สนับสนุนให้ความรู้ทางวิชาการ และ การปฏิบัติการ เกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง กัญชง (Hemp) ทั้งในเชิงเกษตร กรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม  ให้ได้ถึงหนึ่งแสนรายในปีนี้ 

วันนี้ (25 มิ.ย. 2565) สมาคมกัญชงไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร  มีนายวิฑูร เนติวิวัฒน์  เป็นนายกสมาคมกัญชงไทย ได้เชิญชวนสมาชิกและผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม เสวนา “จับคู่ธุรกิจกัญ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” และเปิดตัวสมาคมกัญชงไทยอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก  ทั้งผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา และผู้ที่ออกบูทแสดงนิทรรศการและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้อง  มีจำนวนมากเกินกว่าที่รับสมัคร  ทั้งที่เป็นกิจกรรมกลุ่มปิด  ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า

นายวิฑูร เนติวิวัฒน์ นายกสมาคมกัญชงไทยและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงกล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ได้ประกาศให้พืชกัญชากัญชงไม่ถูกจัดว่าเป็นยาเสพติด ในประเภท 5 (ยส 5) อีกต่อไป แต่ให้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชงที่มีปริมาณสาร THC  เกินกว่าร้อยละ 0.2  โดยน้ำหนัก ยังคงเป็น ยส 5 อยู่ ส่งผลให้พระราชบัญญัติฉบับใหม่และกฎหมายลูกที่จะบังคับใช้ในเรื่องกัญชากัญชงเร็ว ๆ นี้ ได้ผ่อนปรนขึ้นมากในทางบังคับใช้ จนอาจเรียกได้ว่าปลดล็อกแบบง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตปลูก สกัด นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองกัญชากัญชง  การผ่อนปรนเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดกระแสการตื่นตัวอย่างมากในช่วงนี้  และสนับสนุนให้เกิดการยกระดับเกษตรกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่สู่มาตรฐานสากล เพื่อให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างแท้จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผศ.ดร.สามารถ ดีพิจารณ์ คณบดีวิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.  และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.  ได้เป็นเจ้าภาพในส่วนงานกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกัญ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ   มีวิสาหกิจชุมชนที่วิจัยพัฒนา และแปรรูปกัญชา กัญชง เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจประมาณ 80 ราย  ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ร่วมงาน ได้แก่ รถโมบายคลัสเตอร์กัญชา-กัญชง ของ สจล.ร้านไก่ย่างกัญชา ไส้อั่วกัญชา เจลลี่กัญชา รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา กัญชง เป็นต้น   ทั้งนี้ สสว. ตั้งเป้า  ส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจกัญ  จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้มีกระแสเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทภายในเดือนกันยายน 2565 นี้

อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง Influencer กัญชา กัญชง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากช่องยูทูป มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคน  ได้ขึ้นเวทีเป็นวิทยากรในการเสวนา เรื่องตลาดกัญชากัญชง ทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา กัญชง ถ้าจะรวยจริงอย่างที่ตั้งความหวังกันได้นั้น  ต้องไม่ใช่การปลูกแบบธรรมดา ต้องมีมาตรฐานการปลูก ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่สันทนาการ  เพราะราคากัญชา กัญชงในตลาดโลก ไม่เหมือนเมืองไทย  ต้องไม่ฝันเฟื่องจนเกินไป  จะปั่นกระแสจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินความจริง ประเด็นแรกที่ผู้สนใจปลูกกัญชา กัญชงต้องเตรียมให้พร้อม คือ มาตรฐานการปลูกต้องเป็นไปตามที่โรงงานอุตสาหกรรมยอมรับได้  หากผู้สนใจมีจำนวนที่เกินพอดี จะทำให้การแข่งขันราคามากขึ้นดึงราคาผลผลิตให้ต่ำลงตามไปด้วย  อีกทั้งโดยส่วนตัวเห็นว่า พืชกัญชง กัญชานี้  จะต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการวางกรอบทั้งมาตรฐานการผลิต  และมาตรฐานราคา จึงจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ส่งออกได้   มุมมองประการที่สองคือ ถ้าจะเข้าสู่ภาคธุรกิจกัญชากัญชงให้รวยได้นั้น  น่าจะเป็นปลายน้ำ  แต่ต้องเป็นปลายน้ำที่มีความพิเศษ รู้จักการใช้สาระสำคัญแบบไมโครโดส มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่าผลผลิต   อุปมาเหมือนกับไวน์ สมัยแรกที่คนไทยดื่มไวน์ยังจำแนกไม่ได้ว่า รสชาติแบบไหนราคาถูกแบบไหนราคาแพง  แต่ประสบการณ์และเวลาช่วยให้สร้างการเรียนรู้จนจำแนกราคาไวน์ได้เป็นอัตโนมัติ  กัญชา กัญชงก็เช่นเดียวกัน  ราคาอาจจะต่างกันถึง 500 เท่า ถ้าไม่รู้วิธีการปลูก ไม่รู้วิธีการเลือกสายพันธุ์ และไม่รู้วิธีการเก็บ การรักษาผลผลิต  อาจทำให้สารสำคัญราคาแพงสูญสลาย

นายธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย)จำกัด ในฐานะวิทยากร ร่วมเสาวนาสถานการณ์การค้าขาย กัญชง กัญชา กล่าวว่า ถ้าคนไทยจะแข่งในตลาดโลกเพื่อขายผลผลิตต้องเอาข้อดีของภูมิประเทศไทยมาเบิกนำ  เช่น กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพาน คือมีสารสำคัญสูง คนปลูกต้องรู้วิธีการปลูก การให้แสงสว่าง เพื่อควบคุมปริมาณสารสำคัญทั้ง THC และ CBD ต้องมีมาตรฐานการปลูกที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี และยาฆ่าแมลง จึงส่งขายเข้าโรงงานสกัดในราคาที่ดีได้

นายพานุศักดิ์  พลาวัสถ์พงษ์  อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน กล่าวว่า ในทางธุรกิจ บริษัทของตนเอง ส่งออกเส้นบะหมี่จากกัญชงไปต่างประเทศแล้ว  ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยเช่นเดียวกัน นับว่าเป็นการแปรรูปกัญชงที่เพิ่มมูลค่าได้ดีเช่นเดียวกัน  โดยเส้นบะหมี่จากกัญชง ไม่มีแป้ง มีไฟเบอร์สูง ช่วยการขับถ่าย และมีน้ำมันโอเมก้าหลายชนิดมาก ทำให้เป็นสินค้าที่ตลาดโลกสนใจ และมีความต้องการในปริมาณมาก   ถ้าคนไทยจะเข้าสู่ธุรกิจกัญชง ก็ต้องรู้จักที่จะเพิ่มมูลค่าผลผลิต  และหาตลาดให้เจอ

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้หยิบยกเรื่องของงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มานำเสนอว่า กัญชงในส่วนของเมล็ด น้ำมันจากเมล็ดกัญชง เศษเหลือจากการหวดมล็ดกัญชง ซึ่งเป็น by product ได้รับการพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบพร้อมขยายเป็นการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 8 ชนิด ทั้งในกลุ่มอาหารทานเล่น  เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์  หากผู้ประกอบการรายใดต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต้องการสูตรอาหารไปเพื่อ
การผลิต ใช้บริการสถาบันอาหารได้ไม่ยาก ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.nfi.or.th และเฟสบุ๊คของสถาบันอาหาร “สถาบันอาหาร-Nfi Smart Club” ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้สถาบันอาหารยังมีบริการตรวจวิเคราะห์ THC และ CBD การให้คำปรึกษา CoA การฝึกอบรม การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการศึกษาดูงานธุรกิจพืชกัญชง กัญชาด้วย

ปัจจุบันกัญชงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทั้งมีราคาซื้อขายค่อนข้างสูงจนถึงสูงเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจ ชนิดอื่น  มีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตไม่ว่าอุปสงค์และอุปทานเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี ศูนย์วิจัยกรุงศรีออกงานวิจัย เมื่อราวกลางปี 2564 ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยมีมูลค่าราว 600 ล้านบาทในปี 2564 และจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อค โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี ทั้งในปี 2563 Allied Market Research คาดว่าตลาดกัญชงโลกมีมูลค่า 4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจำแนกตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (อาทิ ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ล้างมือ อาบน้ำ) 1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 37.1% ของมูลค่าตลาดกัญชงโลก) รองลงมาได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (25.2%) สิ่งทอ (18.6%) และผลิตภัณฑ์ยา (11.6%) โดย Allied Market Research คาดว่าตลาดกัญชงโลกจะเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ย 21.6% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 ทั้งนี้การลงทุนและจุดคุ้มทุนจากคาดการณ์ การลงทุนตัวอย่างเท่าที่ได้มีการประเมินกันไว้อยู่ที่ราวประมาณสามปี และการปลูกพืชกัญชง ต้องมุ่งไปสู่เกษตรกรรมสมัยใหม่  การทำฟาร์อัจฉริยะสีเขียว (Smart Green Farm) ผลผลิตที่ได้มีทั้งปริมาณและคุณภาพมีความสม่ำเสมอ ส่งผลให้ราคาต้นทุนโดยรวมลดลง อันสามารถเข้าต่อสู้แข่งขันกับอุปสงค์และอุปทานของในประเทศและต่างประเทศ ที่มีลักษณะพลวัต (dynamics)ได้เป็นอย่างดี นำมาซึ่งการเกษตรกรรมสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนและเติบโตต่อไป