จ.อุบลฯ ประเดิมตั้งศูนย์น้ำจังหวัดแห่งแรก ตาม พ.ร.บ.น้ำฯ หวั่นแล้งซ้ำเติม

0
1671

สทนช. ประชุมร่วม จ.อุบลฯ เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำอุบลฯและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เคาะ 8 แผนรับมือแล้ง 62/63 พร้อมหารือการใช้อำนาจ พ.ร.บ.น้ำฯ เร่งขับเคลื่อนศูนย์น้ำจังหวัด วางแผนบริหารน้ำในเขื่อนรองรับฤดูแล้ง ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้เข้าร่วมประชุมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของจังหวัดอุบลราชธานี และการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลตอนล่าง โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการประชุม ณ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรับทราบปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและร่วมพิจารณาแนวทางและทิศทางในการแก้ไขปัญหา โดยประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือกันคือ การเตรียมความพร้อมก่อนฤดูแล้ง 62/63 ที่กำลังจะมาถึง เนื่องด้วยที่ผ่านมา จ.อุบลฯ มักประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็วและรุนแรง และแล้งอย่างกะทันหัน

ดังนั้น สทนช. จึงได้มีการหารือกับที่ประชุมถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนทิศทางบริหารจัดการเขื่อนต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.น้ำ เพื่อรองรับฤดูแล้ง ลดความเสี่ยงภัยขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ปลาย ต.ค. 62 ไปจนถึง พ.ค. 63

.

สทนช. คาดการณ์ว่าในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ปริมาณน้ำท่าในฤดูแล้งจากลุ่มน้ำชีและมูลจะน้อยกว่าปกติมาก เนื่องจากเกิดฝนตกและน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชีและมูลตอนล่าง ส่วนพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำลุ่มชี-มูล ฝนตกน้อยและหมดเร็วกว่าปกติ ดังนั้น ปริมาณน้ำท่าที่จะไหลมาจากแม่น้ำชีและมูลที่จะเติมให้มูลตอนล่างและอุบลราชธานีจะน้อยลงมาก แม้ว่าปัจจุบัน สทนช.ได้ประสาน กฟผ.ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้แล้วก็ตาม โดยขณะนี้มีการระบายน้ำแม่น้ำชีท้ายเขื่อนธาตุน้อยมาให้การใช้น้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศที่ จ.อุบลฯ 150,000 ลบ.ม./วัน และจากแม่น้ำมูลท้ายเขื่อนหัวนาวันละ 50,000 ลบ.ม./วัน รวมน้ำไหลเข้า 200,000 ลบ.ม./วัน ในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากปิดบานเขื่อนปากมูล ระดับน้ำมูลอยู่สูงกว่าระดับต่ำสุดสูบน้ำประปา 0.5 ม. ซึ่งทางจังหวัดมีความกังวลกับปริมาณน้ำที่อาจไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้เนื่องจากจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อเตรียมการฟื้นฟูด้านการเกษตรหลังประสบอุทกภัย อาทิ ปลูกพืชระยะสั้น ปลูกข้าวนาปรัง การประมง ฯลฯ

.

ดังนั้น ที่ประชุมได้ร่วมหาข้อสรุปแนวทางมาตรการและแนวทางการเตรียมความพร้อมฤดูแล้ง 62/63 สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่างและจังหวัดอุบลราชธานี ใน 8 มาตรการหลัก คือ 1) การบริหารจัดการน้ำสำหรับฤดูแล้ง 62/63 ต้องบริหารจัดการร่วมเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญลำดับแรกคือ น้ำอุปโภคบริโภค 2) ฤดูแล้ง 62/63 มีปริมาณน้ำต้นทุนจากต้นน้ำลุ่มน้ำชีและมูลน้อยกว่าปกติ จำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจากด้านท้ายน้ำจากเขื่อนสิรินธรเป็นน้ำต้นทุนน้ำอุปโภคบริโภค และใช้เขื่อนปากมูลทดระดับน้ำมูลไม่ให้ต่ำกว่าระดับ 107.5 ม.รทก. โดยทดระดับให้สูงขึ้นเสมอกันจากหน้าเขื่อนปากมูลถึง M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อความมั่นคงของน้ำอุปโภคบริโภค หากระดับน้ำสูงมากกวา 107.5 ม.รทก. จึงจะระบายน้ำออกจากเขื่อนปากมูลผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า 3) ให้มีการรายงานข้อมูล ปริมาณน้ำ ระดับน้ำ การใช้น้ำ การระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ได้ทันการณ์ รวมทั้งติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำ 4) น้ำสำหรับประปาควรมีแผนสำรอง ในกรณีเกิดวิกฤติขาดน้ำ 5) พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานให้พิจารณาที่จำเป็น โดยให้คณะกรรมการด้านเกษตรประชุมพิจารณาแผนพื้นที่เพาะปลูก ในพื้นที่ที่เสียหายโดยสิ้นเชิงในฤดูฝน และสามารถใช้น้ำตามแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กของท้องถิ่น และริมน้ำมูลได้ เพื่อให้ทราบความต้องการใช้น้ำเกษตรในฤดูแล้งที่จำเป็น 6) ลดหรืองดการอนุญาตเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำมูลตอนล่าง ด้วยน้ำต้นทุนน้อย 7) พิจารณาแนวทางเบื้องต้นของแผนงานเป็นระบบทั้งแผนงานเร่งด่วนที่จำเป็น ระยะกลาง และระยะยาวที่ยั่งยืน 8) เห็นชอบกับการตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงงานบูรณาการงานทั้งระหว่างลุ่มน้ำชีและมูล ทั้งในส่วนของการติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ ตามพ.ร.บ.น้ำ 61 และการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเชื่อมโยงขั้นตอนในการบริหารจัดการน้ำท่วมภัยแล้งอย่างรวดเร็วทันการณ์ทั้งในขั้นตอนก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย

 

  1. #AllnewsExpress