ชป. ยืนยันน้ำในเขื่อนลำตะคองเพียงพอใช้ในฤดูแล้งนี้ ย้ำ..ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประหยัดน้ำ

0
66775

กรมชลประทาน คลายความกังวลพี่น้องชาวโคราช หลังน้ำในเขื่อนลำตะคองมีน้ำใช้การได้เหลือเพียง 19% ของความจุใช้การได้ จนหลายฝ่ายวิตกกังวลว่าน้ำจะไม่พอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ย้ำปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พร้อมวอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด หวังรอดพ้นวิกฤตการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้

กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด(4 ก.พ. 68) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 78 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 25% ของความจุเก็บกัก คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 55 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสาเหตุที่เขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำน้อย นั้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนในปี 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯสะสมตลอดทั้งปีเพียง 81 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของค่าเฉลี่ยทั้งปี จากค่าเฉลี่ยระยะยาวทั้งปี 260 ล้าน ลบ.ม. นับได้ว่าเป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนลำตะคองขึ้นมา (สถิติย้อนหลัง 55 ปี ตั้งแต่ปี 2512-2566 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯน้อยสุด 5 ลำดับแรก ในหน่วยล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนี้ ปี 2535 = 86 ล้าน ลบ.ม. , ปี 2562 = 103 ล้าน ลบ.ม. , ปี 2559 = 113 ล้าน ลบ.ม. , ปี 2566 = 114 ล้าน ลบ.ม. และปี 2532 = 139 ล้าน ลบ.ม.)

ทั้งนี้ จากศักยภาพน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2567/68 ได้มีการวางแผนการใช้น้ำไว้รวม 73 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค 35 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 25 ล้าน ลบ.ม. การเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย 7 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรมอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 30 เมษายน 2568 โครงการฯได้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต จากแผนที่วางไว้ตลอดฤดู 73 ล้าน ลบ.ม. พบว่าปัจจุบันมีการใช้น้ำไปเพียง 25 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีกกว่า 34 ล้าน ลบ.ม.

คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งปี 2567/68 ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 61 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% ของความจุเก็บกัก คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การ 37.8 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่เหลืออย่างประณีต มีการจัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ตามความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ นอกจากนี้ ในพื้นที่ในส่วนของโครงการฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน ตามนโยบายของรัฐบาล และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์