ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์น้อย เหตุจากฝนตกเหนือเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงต้องจัดสรรน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและจริงจัง วอนทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน (30 ก.ค. 63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,371 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 675 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำฤดูฝนไปแล้ว 2,349 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จัดสรรได้ 901 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 63) ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 3.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 43 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
จากปริมาณฝนตกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนค่อนข้างน้อย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีไม่มากนัก โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา(24 – 30 ก.ค. 63) มีปริมาณน้ำลงอ่างฯรวม 117 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการระบายน้ำรวมกัน 138 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 35 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวม 28 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 70 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวม 93 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 10 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวม 14 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 2 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำรวม 3 ล้าน ลบ.ม.
จะเห็นได้ว่า การระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก สำหรับการรักษาระบบนิเวศ อุปโภคบริโภค และการเกษตร(ตามแผนการเพาะปลูก) นั้น มีมากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลงลงอ่างฯ ดังนั้น โครงการชลประทานในพื้นที่จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันรวมทั้ง ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนด้านการเกษตรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งโครงการชลประทานในพื้นที่จะบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรอีกด้วย