ชป.เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำ รับมือฤดูฝนปี 65

0
25684

วันนี้(17 พ.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (17 พ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,435 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 18,499 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 33,649 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,844 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,148 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 15,027 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.65 จากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในปี 2565 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปรกติ 62% โดยในช่วง วันที่ 17-18 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุม ประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จึงทำให้ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 19-23 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ปะเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ประธานในที่ประชุมขอให้เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ รับมือฤดูฝน โดยกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ ครม.เห็นชอบ ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้บริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง ปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที