ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหินโดยการขุดเจาะและระเบิดอุโมงค์ความยาวรวม 49 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ( ลําน้ำแม่แตง ) – เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล – เขื่อนแม่กวงอุดมธารา หากดําเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งส่งผลให้ทุกภาคส่วนได้รับการจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้กว่าร้อยละ 70 และยังเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานได้กว่า 175,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย
ด้าน นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ปัจจุบัน (29 พ.ค. 63) มีผลการดำเนินงานทั้งโครงการแล้วกว่าร้อยละ 51 ของแผนการดำเนินงาน โดยผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง รวมร้อยละ54.96 งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แมกวง สัญญาที่ 1 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 12,500เมตร มีผลงานการก่อสร้างร้อยละ 25.96 และงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญาที่ 2 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 10,472.683 เมตร มีผลงานการก่อสร้างร้อยละ 90.96
สำหรับผลการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด ผลงานการก่อสร้างรวมร้อยละ 47.68งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่1 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 13,600 เมตร ผลงานการก่อสร้างร้อยละ 65.29และงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 2 ความยาวอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 12,024เมตร ผลงานการก่อสร้างร้อยละ 25.81
ทั้งนี้ กรมชลประทานเร่งรัดติดตามการก่อสร้างโครงการในทุกสัญญาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกับผู้รับจ้าง และคณะที่ปรึกษา อย่างใกล้ชิด เนื่องจากลดความเสี่ยงเกิดความเสียหายในการก่อสร้างโครงการ และเพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้