ชป. เพิ่มการระบายน้ำหน้าฝายหนองหวายจังหวัดขอนแก่น หนุนการประปาเมืองมหาสารคาม

0
7119

กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำหน้าฝายหนองหวายในปริมาณ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงสู่ลำน้ำพอง ก่อนไหลลงแม่น้ำชีหน้าเขื่อนมหาสารคาม เพื่อช่วยเหลือการประปาส่วนภูมิภาคสาขามหาสารคาม วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อสงวนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะสำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC 6) พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำชีบริเวณบริเวณโรงสูบน้ำ บ้านดินดำ ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและระดับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปาส่วนภูมิภาคสาขามหาสารคาม จึงปรับเพิ่มการระบายน้ำหน้าฝายหนองหวาย ลงสู่ลำน้ำพอง ก่อนจะไหลลงแม่น้ำชีหน้าเขื่อนมหาสารคาม ในปริมาณ 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อระบายจากเขื่อนมหาสารคามลงด้านท้ายไปช่วยเติมน้ำดิบสำหรับการผลิตประปาเสริมความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจังหวัดมหาสารคาม

สำหรับน้ำที่ระบายไปช่วยการประปามหาสารคามครั้งนี้ เป็นน้ำต้นทุนหน้าฝายหนองหวายที่ได้เก็บกักน้ำฝนไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายกรมชลประทาน ส่งผลให้มีน้ำต้นทุนหน้าฝายหนองหวายเพียงพอที่จะสนับสนุนการประปามหาสารคาม โดยไม่ต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์

นอกจากนี้โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้เข้าไปร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาควางแผนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะนำถุงบิ๊คแบ็คเข้าไปกั้นแม่น้ำชีบริเวณด้านท้ายน้ำของโรงสูบน้ำดิบ และนำเครื่องจักรเข้าไปขุดชักร่องน้ำใต้สะพานท่าขอนยาง รวมถึงอาจจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบเติมน้ำดิบให้กับโรงสูบน้ำดิบฯ

ด้าน นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามทราบ และขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ลดจำนวน/ลดชั่วโมงการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรที่อยู่ในความดูแลของท้องถิ่นลง เนื่องจากน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ มีปริมาณจำกัดสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนกว่าจะมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณเพียงพอในระยะต่อไป