กรมชลประทานสั่งเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “ซินลากู” และร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักถึงหนักมากครอบคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้หลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่จากผลกระทบจากพายุ “ซินลากู” ว่า ได้กำชับให้ชลประทานทุกพื้นที่ยังเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแม้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่พื้นที่ปกติแล้ว และเร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยให้คลี่คลายโดยเร็ว ทั้งนี้จากรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 200 ไร่ บ.หนองผักตบ ต.คำวิลัย อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้วางแผนตัดยอดปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำในระบบ สามารถตัดยอดระบายน้ำสูงสุดได้รวม 45 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งเรียงหินป้องกันการกัดเซาะจากการตัดยอดน้ำด้านท้ายน้ำ และร่วมจัดจราจรน้ำชี-ยัง ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 7 โดยจะทำการเปิดบานระบายน้ำพร่องน้ำในเขื่อนยโสธรและเขื่อนธาตุน้อย ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลมาสมทบจากน้ำยังตอนบน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่ามวลน้ำจะไหลลงแม่น้ำชี และบางส่วนจะถูกผันเข้าไปเก็บกักไว้ตามแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สนับสนุน เครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 13 เครื่อง, กระสอบบรรจุทราย 12,000 กระสอบ, กล่องลวดตาข่ายขนาด 2x4x0.3 ม. ,หินใหญ่,เสาเข็มพืด (Sheet pile), เครื่องจักรเครื่องมือและบุคลากรเตรียมพร้อมในพื้นที่ เฝ้าระวังตลอดแนวผนังกั้นน้ำยัง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่า 2 – 3 วัน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ที่จังหวัดเชียงราย สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่โครงการชลประทานเชียงราย ยังคงเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากรไว้พร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดโดยได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 2 คัน ด้านจังหวัดลำพูน ฝนที่ตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่องส่งผลให้ลำน้ำกวงมีระดับน้ำในแม่น้ำปิง และลำน้ำกวงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ เตรียมความพร้อมสำหรับการรับมืออุทกภัย โดยใช้อาคารชลประทานต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำ อาทิ การยกบานระบายที่ฝายแม่ปิง ฝายหนองสลึก ฝายวังปาน รวมทั้งประตูระบายน้ำต่างๆ สำหรับการระบายน้ำปริมาณมากที่จะไหลหลากมาจากต้นน้ำ นั้น สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง แพร้านอหาร แพสูบน้ำ และประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำปิง ให้ระมัดระวังการเปลี่ยนแปลของระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้น และขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดแล้ว
ด้านจังหวัดบึงกาฬ โครงการชลประทานบึงกาฬ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งบริเวณโรงพยาบาลบึงกาฬ ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนทำการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 และสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th ได้ตลอดเวลา