กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งเดือนสุดท้ายของหน้าฝนให้ได้มากที่สุด พร้อมลงพื้นที่สร้างเครือข่ายชลประทาน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ พร้อมวอนทุกฝ่ายร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เช้าวันนี้(14 ก.ย. 63) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 16 -17 ก.ย. 63 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาว ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนน้อยลง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในระยะต่อไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน( 14ก.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 36,500 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 12,692 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,046 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,350 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (14 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,121 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,275 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีฝนตกบริเวณเหนืออ่างฯต่ำกว่าค่าปกติ
กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะน้ำน้อย เน้นส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ย้ำต้องบริหารจัดการน้ำด้วยความปราณีตและประหยัด นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการฯเร่งสร้างเครือข่ายอาสาสมัครชลประทาน กลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อเป็นกระบอกเสียง ในการสร้างความรับรู้และความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม