ชป.แจงชาวนาชัยนาท เหตุไม่มีน้ำเลี้ยงข้าวนาปรัง

0
5545

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ชาวนาในอำเภอสรรคบุรีหลายราย ต้องยอมปล่อยทิ้งนาข้าวนับพันไร่ที่ใกล้ออกรวงให้แห้งตาย เพราะไม่สามารถหาแหล่งน้ำไปช่วยหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้แล้ว คลองชลประทานต่างๆในพื้นที่ไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่แม้แต่หยดเดียว ส่วนบ่อบาดาลก็สูบน้ำขึ้นมาได้น้อย ไม่พอเลี้ยงนาข้าว จำใจต้องปล่อยนาทิ้งให้แห้งตาย นั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีนี้ว่า พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ ปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง กรมชลประทานได้ให้เจ้าหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำการหยุดส่งน้ำเข้าระบบตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

ส่วนกรณีนาข้าวนับ 1,000 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย นั้น อยู่ในเขตตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ อายุข้าวประมาณ 25 – 30 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงแตกกอ โดยเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวได้ใช้แหล่งน้ำของตัวเอง เช่น บ่อตอก ในการทำนาปรัง แต่เนื่องจากน้ำใต้ดินอยู่ในระดับต่ำมาก เกษตรกรไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ส่งผลให้ต้นข้าวแห้งตาย ซึ่งโครงการฯบรมธาตุ ได้เข้าไปทำความเข้าใจแก่กลุ่มเกษตรกรแล้ว ต่างมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับกรณีของเกษตรกรเลี้ยง โค–กระบือ ได้รับความเดือดร้อน ต้องพาโค–กระบือ หาน้ำและหญ้ากิน    ในคลองส่งน้ำ นั้น ผู้เลี้ยงโค-กระบือ ได้พา โค–กระบือ มาหาหญ้ากินบริเวณคันคลองซึ่งบางครั้งได้ลงไปกินในคลองด้วย หากมีการหยุดส่งน้ำเข้าคลองเป็นปกติอยู่แล้วทุกปี ส่วนน้ำที่เกษตรกรใช้เพื่อให้โค–กระบือกิน นั้น ผู้เลี้ยงได้เตรียมจัดหาให้พอเพียงอยู่แล้ว เนื่องจากโครงการฯบรมธาตุ ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเลี้ยงโค–กระบือ ทราบก่อนล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโค–กระบือมีความเข้าใจในสถานการณ์และได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่านับตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน  ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถสนับสนุนได้เพียงการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น