ชป.โชว์ผลงานบางระกำโมเดลปี63 สำเร็จตามเป้า

0
6954

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานบางระกำโมเดลปี63 หลังเกษตรกรเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว265,000ไร่

วันนี้(15ก.ค.63) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามมาตรการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ ณ ท่อระบายน้ำคลองแยงมุม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำ-บางระกำ หรือ “โครงการบางระกำโมเดล”  มาตั้งแต่ปี2560 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว
แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปี ทำให้ในปีนี้ จำเป็นต้องลดพื้นที่เป้าหมายในการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกลงจาก 382,000 ไร่ เหลือ 265,000 ไร่ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2560 โดยจะจัดสรรน้ำประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการฯใช้น้ำทำนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563  ปัจจุบัน(15 ก.ค. 63) เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว(265,000 ไร่) รวมปริมาณน้ำที่ส่งให้พื้นที่ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 63 จนถึงปัจจุบัน(9 ก.ค.63) 121.31 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าแผนที่ตั้งไว้เนื่องจากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่เพียงพอ เกษตรกรจึงใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคม 2563 หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมตอนบนในช่วงฤดูฝน ประมาณ 140,000ไร่ สามารถรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก รวมไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม