ชลประทานฯวอนลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำต้นทุนจำกัด ขอทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

0
3652

กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้งนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย วอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดและใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,621 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,925 ล้าน ลบ.ม.

โดยปัจจุบันที่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,779 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,979 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำ 5,062 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 2,212 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำ 475 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 432   ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 305 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 302 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง รวมกันวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

สำหรับแผนจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปี 2562/63 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไว้รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. (ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 500 ล้าน ลบ..) ต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 อีกประมาณ 2,284 ล้าน ลบ.ม. (ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริม 350 ล้าน ลบ..) ปัจจุบัน (3 ธ.ค. 62) จัดสรรน้ำตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไปแล้ว 830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของแผนจัดสรรน้ำ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จำเป็นต้องวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการรักษาระบบนิเวศและรักษาเสถียรภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองสายหลักต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และให้ร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้อย่างไม่ขาดขาดแคลน