ชลประทานฯ วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

0
3029

ชลประทานฯ วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

วันนี้(19 พ.ย. 62) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 23/2562 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทาน และเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมดำเนินการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63  ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน

สภาพฝน ภาคใต้มีฝนปานกลางในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ซึ่งมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ จะน้อยกว่าในบางช่วง ส่วนปริมาณฝนรวมบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 40

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(19 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,787 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,889 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,847 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,151 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก

สภาพน้ำท่าทางตอนบนของประเทศไทย ปัจจุบัน(19 ต.ค. 62) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 250 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 240 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 8.69 เมตร และคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 70 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 96 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 97 ลบ.ม./วินาที) สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่วนทางภาคใต้อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง – มาก

.

ด้านแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2562 ทั้งประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว  1,738 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 514 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13

.

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศรวม 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 7 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 4.01 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำแม่กลอง มีแผนเพาะปลูกรวม 2.07 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.69 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ) ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงมีแผนเพาะปลูกเพียงพืชอื่นๆ เช่น อ้อย ที่ต้องใช้การเพาะปลูกแบบต่อเนื่องเท่านั้น รวมจำนวน 0.99 ล้านไร่

.

จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย การสนันสนุนน้ำเพื่อการเกษตรและการประมง จึงมีแผนการจัดสรรอย่างจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน อีกทั้ง กรมชลประทาน จะต้องดำเนินการตามแผนจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ให้ความรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ซึ่งในขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่มาก

“จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนประหยัด พร้อมทั้งสร้างกระบวนการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำ รวมทั้ง ตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ค่าความเค็ม อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ไว้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถ”