เช้าวันนี้(16 ธ.ค. 64) ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ไปติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน โดยมีนายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 นายจรินทร์คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และนายไพรัตน์ ทับประเสิรฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(16 ธ.ค. 64)เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 อาทิ สนับสนุนการผลิตน้ำประปา 9 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ 9 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการทำนาปรังได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และทำข้อตกลงสำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำ ที่จะงดส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนได้ ยกเว้นพืชใช้น้ำน้อยจะเริ่มส่งน้ำให้ทำการเพาะปลูกได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ และรถบรรทุกน้ำ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ตลอดเวลา สำหรับโครงการจัดจ้างแรงงาน ตามมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร นั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ได้มีการจัดจ้างแรงงานไปแล้ว 627 คน(แผน 869 คน)
สำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงระยะยาว กรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด และแม่งัด-แม่กวง ตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ด้วยการนำน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนจากลำน้ำแม่แตง มาเก็บกักไว้ในเขื่อนแม่กวงฯ ได้ประมาณปีละประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 67
“ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ทุกแห่ง บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้พี่น้องประชาชน รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำไปปรับใช้และวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวในที่สุด