ทางเลือกเกษตรกรไทย หลังแบน3สารเคมี

0
623

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร แสดงจุดยืน ถึง แนวทางเลือก และมาตรการสนับสนุนเกษตรกร หลังแบน 3 สารพิษ
โดยสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้ายกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรง และชัดเจนในทางเลือกการจัดการวัชพืชในพื้นที่ทางการเกษตร พร้อม เสนอ รัฐบาลในการสนับสนุนเกษตรกรในการปรับเปลี่ยน โดยเกษตรกรไม่ต้องเป็นผู้รับภาระหากมีต้นทุนสูงขึ้น

นาย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ประธานมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า รัฐควรมีมาตรการทางการเงิน กองทุน ช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มเกษตรรายย่อย และขนาดกลาง หากต้องมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มาตราการทางภาษี ที่จะเข้ามาสนับสนุนเครื่องจักรกล ให้ผู้ผลิตในประเทศได้ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร และลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร  รวมถึงควรแยก พระราชบัญญัติ สารเคมีการเกษตร ออกมาดูแลโดยเฉพาะ และมีกองทุนเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้ ก่อนที่จะมีผลแบน3สาร อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย เฉพาะกรมวิชาการเกษตร ควรมีมาตรการที่ชัดเจนได้แล้ว ในทางเลือกการปรับเปลี่ยนดูแล พืชเศรษฐกิจ แต่ละชนิด ใน6 ประเภท ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เช่น การควบคุมวัชพืช  และ หากพบว่า พืชชนิดใด มีต้นทุนที่สูงขึ้น ในการปรับเปลี่ยนการไม่ใช้สารเคมี เกษตรกรอาจมีภาระเพิ่มขึ้น ภาครัฐก็ควรมารับภาระช่วยเกษตรกร รวมถึง มีมาตรการสนับสนุน เยียวยา ที่ชัดเจน โดยมองอีกว่า หากแบน 3 สารเคมีไม่ให้เกษตรกรใช้ แล้ว การทดแทนด้วยสารอื่นๆ ก็ไม่ควรใช่สารเคมี

ขณะที่ตัวแทนเกษตรกรที่มาร่วมแสดงจุดยืนในครั้งนี้ ยืนยันว่า การทำเกษตรไม่ว่าจะแปลงเล็กหรือแปลงใหญ่ สามารถทำได้โดยไม่ใช้สารเคมี หากมีความเข้าใจในพืชนั้นๆ และรู้วิถีการกำจัดวัชพืชที่ถูกต้อง มีความขยัน ละเอียด ในการดูแลพื้นที่ทางการเกษตรของตนเอง

เช่นเดียว กับ ความเห็นของ นาย ชนวน รัตนวรหะ อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ให้ความเห็นว่า การมีมติแบน 3 สารเคมี ที่ผ่านมาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และ หากมีการปรับเปลี่ยนไม่ใช้สารเคมีแล้ว ก็ควรทำเกษตรแบบไร้สารเคมีไปด้วย ยืนยันว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทาง มีงานวิจัยมากมาย ในการทำการเกษตรแบบไร้สารเคมี ให้กับเกษตรกร

โดย ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 กรมวิชาการเกษตร จะรายงานต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด

ในกรอบการช่วยเหลือเกษตรกรหลายมาตรการ เช่น การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต การใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทันสมัยมาจัดการแปลงเพาะปลูก และการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์