นราพัฒน์ ผช.รมว.กษ. ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร ติดตามปัญหาภัยแล้งและสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด เร่งรัดการแก้ไขอย่างยั่งยืน

0
4753

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร ร่วมกับนายรัตนะ สวามีชัย (ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) นายชาตรี บุญนาค (รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร) นายวีระชัย เข็มวงษ์ (เกษตรจังหวัดพิจิตร) นางสาวธนินทร์พรรณ ภววัฒนานุสรณ์ (เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร) และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพิจิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดติดตามโครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้พี่น้องเกษตรกรในการกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมให้มากที่สุด และการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรให้มุ่งเน้นมาตรฐานความปลอดภัย เป็นสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมได้รับมาตรฐานสากลของต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดพิจิตร

นายนราพัฒน์ฯกล่าวว่า จังหวัดพิจิตรมีพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำขนาบ 2 สาย คือแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมช่วงน้ำหลากจะเกิดปัญหาน้ำท่วม ส่วนหน้าแล้งก็แล้งมากโดยเฉพาะแม่น้ำยม ซึ่งไม่มีเขื่อน ก็จะขาดน้ำเพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ จึงจำเป็นต้องกั้นลำน้ำยมเป็นแบบขั้นบันได ในบริเวณอำเภอสามง่าม และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ทั้งหมด 3จุด จุดที่ 1. ฝายยางสามง่าม ต.รังนก ได้รับงบซ่อมแซมชั่วคราวในปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 6 ล้านบาท และของบปรับปรุงถาวรอีก 89 ล้าน เพื่อให้มีความแข็งแรงได้ทันก่อนฤดูฝนปีนี้ ซึ่งขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า ในปี 2564 เกษตรกรในจังหวัดพิจิตรมีน้ำใช้สำหรับฤดูแล้งอย่างแน่นอน จุดที่ 2
ฝายวังจิก ต. วังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ซื่งมีการก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการมอบพื้นที่ และปรับรูปแบบ ขณะนี้ผู้รับเหมาสามารถเข้าทำงานได้แล้ว ก็จะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 2 ปี จุดที่ 3 ฝายโพธิ์ประทับช้าง ต. ไผ่ท่าโพธิ์ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ได้เตรียมบรรจุเข้างบประมาณปี 2564 โดยมั่นใจว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้านี้ เกษตรกรจังหวัดพิจิตรจะมีฝาย 3 ตัวนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาการกักเก็บน้ำได้ครบระบบอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในการบริหารจัดการน้ำและแผนงานพัฒนาด้านการเกษตรของจังหวัดพิจิตร และงบประมาณสำหรับการพัฒนา โดยนายนราพัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเกษตรของพิจิตรควรมีการส่งเสริมการปลูกพืชให้หลากหลาย เช่น พืชใช้น้ำน้อย พืชเลี้ยงสัตว์ พืชพลังงาน และการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น การปรับพื้นที่การเพาะปลูกในจังหวัดให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในพื้นที่ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ซึ่งอาชีพเลี้ยงสัตว์ยังสามารถเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

นอกจากนี้ นายนราพัฒน์ฯ ย้ำว่า ทุกวันนี้การค้าระหว่างประเทศมุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย และเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหลายกลุ่มประสงค์ผลิตข้าว Organic เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงเห็นควรให้ส่วนราชการในจังหวัดพิจิตรสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวให้ได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานสากล เพื่อสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น