‘ประภัตร’ เดินหน้าเกษตรสร้างชาติ ปลื้มสถาบันการศึกษาขานรับ ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ-แพะ ลดพื้นที่ปลูกยางภาคใต้

0
4858

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์ นาทวี พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การต้อนรับ ณ หมู่ที่1 ต.คลองทราย อ.นาทวี จ.สงขลา ว่า ปัจจุบันราคายางในประเทศและในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเป็นระยะ ตลอดจนราคาปาล์ม และการเกิดโรคในพืชทำให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (เกษตรสร้างชาติ) ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขึ้น ซึ่งในพื้นที่ จ.สงขลา มีความเหมาะสมในการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและแพะ เพื่อเป็นอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร ลดพื้นที่ปลูกยาง อีกทั้งราคาสินค้าปศุสัตว์ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีตลาดรองรับชัดเจน โดยโคเนื้อและแพะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียมากที่สุด ปีละประมาณ 1 แสนกว่าตัว ดังนั้น เรื่องตลาดจึงไม่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่เกษตรกรขาดคือแหล่งเงินทุน ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเพิ่มโอกาสทางอาชีพได้

นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งเครือข่ายสถาบัน เครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อและแพะเนื้อ จึงร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการฯ โดยผลิตโคและแพะต้นน้ำเพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงขุนจำหน่าย รวมทั้งผลิตแม่โคและฐาน โดยมี ธกส. เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการเงิน และมีเจ้าหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมปศุสัตว์ เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ด้านวิชาการและติดตามการดำเนินงาน ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่มีสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมโครงการฯ ด้วย จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับนักศึกษาเป็นการสอนวิธีทำธุรกิจ พร้อมทั้งได้เรียนรู้อาชีพปศุสัตว์ โดยรัฐบาลสนับสนุนแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และพัฒนาพื้นที่ของสถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางบริการอาหารสัตว์ (Feed Center) ผลิตอาหารสัตว์ได้วันละประมาณ 20 ตัน ตลอดจนเป็นคอกกักศูนย์กลางรับซื้อวัวจากเกษตรกรส่งออกไปยังต่างประเทศ

.

ทั้งนี้ สถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์ นาทวี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2533 มีพื้นที่ 344 ไร่ มีภารกิจหลักในด้านการผลิตโคนมเพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนการเรียนการสอนการฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์และสถาบันอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์ และให้บริการวิชาการสู่ชุมชน ตลอดจนมีส่วนในการให้ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรและผู้สนใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงโคพื้นเมือง ปัจจุบัน มีโครวมทั้งสิ้น 80 ตัว ปัญหาที่พบคือ หญ้าอาหารสัตว์มีไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง เกิดปัญหาสุขภาพสัตว์ตามมาทอ่อนแอโตช้าอัตราการตายสูงกว่าปกติ

จากนั้นตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง โดยเยี่ยมชมโรงเรือนแพะแบล็คเบงกอลและแพะชามีพระราชทาน พร้อมประชุมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานและมอบนโยบายด้านปศุสัตว์ ให้กับเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง (คณะทรัพยากรธรรชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)  อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีฝูงแพะพระราชทานจำนวน 56 ตัว และแพะของมหาวิทยาลัยฯ 450 ตัว รวมทั้งมีแปลงหญ้าพลิแคททูลั่ม เนเปียร์ และมะรุมพระราชทาน ซึ่งใช้เป็นสถานที่ในการสอน วิจัย ฝึกอบรม และสนับสนุนภารกิจของมูลนิธิชัยพัฒนา