ปลุกกระแส ทำแปลงใหญ่อัจฉริยะอ้อย ลดเผาพื้นที่เกษตร

0
5837

วันนี้ (9 มี.ค. 63) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร – ตัดอ้อยสดลดมลพิษ ณ แปลงเรียนรู้ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ บ้านหนองผักหนาม ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ชูพื้นที่ทำแปลงใหญ่อ้อยอัจฉริยะ ขับเคลื่อนมาตรการลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรรม แบบยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังการเปิดงานฯ ว่า หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี มีมติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการขขับเคลื่อน การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกำหนดนโยบาย และมาตรการเพื่อเร่งยกระดับการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูถัดไป และเผาเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อย ทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเกษตรกรเอง รวมทั้งทำให้ดินเสื่อมโทรม ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตลดลง

การแก้ไขโดยให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหา รวมถึง แสดงนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะลดทั้งปัญหามลพิษ ลดทรัพยากรต่างๆ เป็นการแก้ไขในระยะยาว ทั้งปัญหาแรงงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร ได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรตระหนักและเข้าใจ รวมถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดการเผา ได้กว่า 1,600 แห่ง เพื่อที่จะเฝ้าระวังอย่างจริงจัง ควบคู่กับการส่งเสริมแนวทางการเกษตรยั่งยืน ใช้เศษวัสดุทางการเกษตร นำมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นทำปุ๋ยหมัก ผลิตเป็นพลังงานทดแทน การเพาะเห็ด ซึ่งมีเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ เฉพาะปี 63 ถึงกว่า 17,000 ราย
แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเกษตรกรที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการแสดงนวัตกรรม ในแปลงใหญ่อ้อยอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนโดย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรฯ เพราะการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลในการตัดอ้อย ทดแทนการเผา ให้เกษตรกรเรียนรู้การปรับระบบการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการจริง เพื่อลดปัญหาการเผา ก่อนเก็บเกี่ยว โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 สถานี ได้แก่ 1.สถานีการเตรียมดิน ปลูก และบำรุงรักษา 2. สถานีบำรุงรักษาตออ้อย 3. สถานีการตัดอ้อยสดด้วยรถตัดอ้อย และจัดการเศษวัสดุด้วยเครื่องม้วนใบอ้อย 4. สถานีสำรวจและจัดทำแผนที่การเจริญเติบโต และการพ่นสารป้องกันและกำจัดวัชพืช ด้วยโดรน มีเกษตรกรในจังหวัดสระแก้ว ร่วมงานกว่า 500 คน