ผลโหวตร่างแก้รธน.! ผ่านเพียงฉบับที่ 13 ร่างเดียว ของพรรคร่วมรบ. เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

0
15128

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ของพรรคการเมืองต่างๆ ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค อีก 8 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 23   มิถุนายน 2564  จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่ลงมติด้วยการขานชื่อทีละคนทั้ง 13 ร่างว่าจะรับหลักการหรือไม่ จนกระทั้งล่วงเลยมาถึงเวลา 01.00 น.ของวันนี้(25มิ.ย.) ก็ยังไม่เสร็จสิ้นลง แต่นายชวนได้ขอพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที

ต่อมานายชวนได้แจ้งผลการนับคะแนนว่า  โดยขณะนี้จำนวนสมาชิกรัฐสภามีอยู่ทั้งหมด 733 คน โดยแต่ละร่างจะต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคือ 367 คะแนน และมีเสียง ส.ว. เห็นชอบเกิน 1 ใน 3 คือ 84 คะแนน

  • 1.รับหลักการ 334  คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 334 คะแนน และส.ว. 0 คะแนน   ถือว่าไม่รับหลักการ
    2.รับหลักการ 399 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 393 คะแนน และส.ว.  6 คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    3.รับหลักการ  376 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 340 คะแนน และส.ว.  36 คะแนน ถือว่าไม่รับหลักการ
    4.รับหลักการ 455 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 440  คะแนน และส.ว.  15  คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    5.รับหลักการ  327 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 326  คะแนน และส.ว.  1  คะแนน ถือว่าไม่รับหลักการ
    6.รับหลักการ  454 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 419  คะแนน และส.ว.  35  คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    7.รับหลักการ  476 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 421  คะแนน และส.ว.  55 คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    8.รับหลักการ 469 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 421  คะแนน และส.ว.  48 คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    9.รับหลักการ  415  คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส.  400  คะแนน และส.ว.  15  คะแนน  ถือว่าไม่รับหลักการ
    10.รับหลักการ  431 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 398 คะแนน และส.ว.  33 คะแนน ถือว่าไม่รับหลักการ
    11.รับหลักการ  461  คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 440  คะแนน และส.ว. 21  คะแนน   ถือว่าไม่รับหลักการ
    12.รับหลักการ  457 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 407   คะแนน และส.ว.  50   คะแนน ถือว่าไม่รับหลักการ
    และ13.รับหลักการ  552 คะแนน โดยเป็นเสียงของ ส.ส. 407  คะแนน และส.ว. 220  คะแนน  ถือว่ารับหลักการ

จึงเป็นอันว่ามีเพียงร่างฉบับที่ 13 ของพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเท่านั้นที่ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป

จากการสังเกตการขานชื่อมาถึงคนที่ 250 จากจำนวน 700 คนของทั้งหมด ผลปรากฎเบื้องต้นว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นพ้องลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสียงแตก โดยมี ส.ส.ที่ลงมติรับหลักการทั้ง 13 ฉบับ อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เป็นต้น

ขณะที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ลงมติรับหลักการเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น 1.ร่างพรรคพลังประชารัฐ 2.ร่างพรรคเพื่อไทย แก้ไขระบบเลือกตั้ง 3.ร่างพรรคเพื่อไทย รื้อมรดกคสช. และ 4.ร่างพรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่ลงมติงดออกเสียง ส่วน ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ลงมติเห็นหลักการเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน ยกเว้น 1.ร่างพรรคเพื่อไทย เพิ่มสิทธิพื้นฐาน 2.ร่างพรรคเพื่อไทย แก้ที่มานายกฯ 3.ร่างพรรคเพื่อไทย รื้อมรดกคสช. และ 4.ร่างพรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขที่มานายกฯ พร้อมใจกันลงมติงดออกเสียง

ด้าน ส.ว.ส่วนใหญ่ พร้อมใจกันลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง มีเพียง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เท่านั้นที่ลงมติไม่รับหลักการด้วย

อย่างไรก็ตามการลงมติด้วยการขานชื่อมาถึงในเวลา 21.30 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน ปรากฏว่า คะแนนเสียงในร่างที่ 13 ของพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งคือ 367 คนไปเรียบร้อยแล้ว จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 733 คน โดยมีเสียงส.ว.ลงคะแนนรับหลักการเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงเช่นกัน ทำให้ร่างที่ 13 ผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ร่างที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการแก้ไขมาตรา 144 และ185 เรื่องการยกเลิกบทลงโทษ ส.ส.และส.ว.ที่ก้าวก่ายการแปรญัตติงบประมาณ และการให้ส.ส.-ส.ว.เข้าไปแทรกแซงการทำงานข้าราชการได้นั้น ปรากฏว่า มีคะแนนไม่รับหลักการและงดออกเสียงของ ส.ว. เกิน 166 เสียง จาก ส.ว.250 คนเท่ากับว่า มีเสียงส.ว.ที่จะให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงอย่างแน่นอนแล้ว จึงไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 อย่างแน่นอนแล้วเช่นกัน