พล.อ.ประวิตรฯ ติดตามงานฟื้นฟูกว๊านพะเยา เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน แลนด์มาร์คใหม่เมืองพะเยา

0
25934

วันนี้ (16 ม.ค. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่จังหวัดพะเยา และการดำเนินงานโครงการขุดลอกกว๊านพะเยา ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกียรติพงษ์ เพชรศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่2 นายปาโมกข์ ปิงเมือง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพะเยา และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการพัฒนากว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนา ฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ ให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ตามแผนหลักในการพัฒนาและฟื้นฟูกว๊านพะเยา 5 ด้าน ได้แก่ 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3) การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 4) การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5) การใช้ประโยชน์ของพื้นที่

โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีแผนดำเนินการพัฒนากว๊านพะเยา 3 โครงการ ได้แก่
1) โครงการขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำ 6.58 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรรอบกว๊านพะเยาฝั่งตะวันตก 5,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำสำรองให้พื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำอิงตอนล่างอีก 5,200 ไร่
2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำในพื้นที่ตอนบนกว๊านพะเยา สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการทดน้ำและระบบส่งน้ำ พื้นที่กว่า 6,000 ไร่
3) โครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและระบบกระจายน้ำกว๊านพะเยา มีพื้นที่รับประโยชน์จากการปรับปรุงระบบส่งน้ำมากกว่า 10,000 ไร่ และมีพื้นที่รับประโยชน์จากการก่อสร้างฝาย มากกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักในกว๊านพะเยาได้ถึง 9.27 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 24,350 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการ 154,981 ครัวเรือน ทั้งยังสามารถลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 31,776 ไร่ อีกด้วย

ในการนี้ พลเอก ประวิตรฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน เพื่อพัฒนา ฟื้นฟู กว๊านพะเยา ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งทำทำนบดินลาดยาง รอบกว๊านพะเยา ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว รวมทั้งเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นรูปธรรม