‘พาณิชย์’ส่งเสริมผ้าไหมไทยต่อเนื่อง มุ่งหน้า…สกลนคร – กาฬสินธุ์ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

0
3273

กระทรวงพาณิชย์ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แคมเปญ “เส้นทางสายไหม…สู่เมืองรอง” มุ่งหน้าจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ เล่าเรื่องราววัฒนธรรมผ้าไหมท้องถิ่นอีสานและการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจใช้ผ้าไหมไทย สื่อสารให้เกิดมุมมองใหม่ ผ้าไทยสามารถแต่งกายให้ดูร่วมสมัยและสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกระตุ้นแนวคิดผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่งเสริมลูกหลานในชุมชนแหล่งผลิตหันมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตผ้าไหมไทยมากขึ้น

ลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ภายใต้แคมเปญ “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” โดยเน้นสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคและซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้า และบริการในเมืองรองมากขึ้น โดยการจัดกิจกรรมฯ ครั้งนี้เป็นส้นทางท่องเที่ยวสายไหมสู่เมืองรอง เส้นทางที่ 2 โดยจะเดินทางไปจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ เพื่อเชื่อมโยงผ้าไหมประจำถิ่นกับการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัดเข้าด้วยกัน  

การลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2562 ครั้งนี้ พื่อสัมผัสวิถีชุมชนและวัฒนธรรมผ้าไหมในแต่ละท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด พร้อมถ่ายทอดความประทับใจที่ได้พบเห็น สร้างแรงจูงใจให้สาธารณชนหันมาตระหนักถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ซึ่งจะเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นการตัดสินใจเลือกซื้อ/เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม รวมถึง สินค้า และบริการต่างๆ ในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น ทั้งนี้ มุ่งหวังสร้างความก้าวหน้าให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทให้มีความแข็งแกร่ง”

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจนำผ้าไหมไทยมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการสื่อสารให้เกิดมุมมองใหม่ว่าผ้าไทยสามารถแต่งกายให้ดูร่วมสมัยได้ รวมทั้งกระตุ้นแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค และส่งเสริมลูกหลานในชุมชนแหล่งผลิตหันมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตผ้าไหมไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องมีการนำเรื่องราวของสินค้ามาถ่ายทอดเพื่อดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะตลาดวัยรุ่นที่ต้องการสินค้าที่มีความทันสมัยและร่วมสมัย ผู้ผลิตจึงควรพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ปัจจุบันสินค้าไลฟ์สไตล์มีหลากหลายประเภท ผู้ผลิตสามารถผลิตและดัดแปลงสินค้าจากผ้าไหมให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าผืน สามารถนำมาตัดเย็บให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจของลูกค้ามากขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับเส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดสกลนคร เริ่มต้นเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารปูชนียสถานและศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวสกลนคร และ วัดถ้ำผาแด่นวัดเก่าแก่ที่ตั้งเด่นตระหง่านบนแนวเทือกเขาภูพาน โดยสามารถชมได้ทั้งทิวทัศน์ธรรมชาติแบบอันซีนของจังหวัด พร้อมความงดงามของงานแกะสลักบนหน้าผาหินอันวิจิตรศิลป์ และที่พลาดไม่ได้ คือ

ได้เดินทางไปสัมผัสแหล่งผ้าไหมท้องถิ่นขึ้นชื่อของสกลนครจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มผ้าไหมย้อมคราม อ.โคกศรีสุพรรณ เป็นแหล่งผลิตที่จะได้ชมทั้งกระบวนการทอผ้า สาวไหม และย้อมคราม *ร้านครามสกลอ.เมือง งานคราฟสวยๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สกลนครเป็นอย่างมาก ผู้มาเยี่ยมชมสามารถเรียนรู้และทดลองทำผ้ามัดย้อมได้ด้วยตนเอง รวมถึง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแท้ๆ เป็นของฝากกลับบ้านได้อีกด้วย”

เส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่าง พิพิธภัณฑ์สิรินธรหรือศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ่มข้าว ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวไดโนเสาร์แบบครบวงจรและสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากนั้นเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ผ้าไหม 2 แห่ง ณ อ.คำม่วง ได้แก่ *กลุ่มทอผ้าบ้านหนองยางคำ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งผลิตผ้าไหมพื้นบ้านที่สวยงาม มีกระบวนการทอผ้าและย้อมสี โดยขั้นตอนการทอและย้อมจะนำเส้นไหมแช่น้ำให้อิ่มตัว นำลงไปใน “น้ำครั่ง” ที่ได้จาก “แซงมะพร้าว” แล้วนำกลับมาล้างให้สะอาด หลังจากนั้น นำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ เช่น สีแดงอมชมพูจากแก่นฝาง สีเหลืองจากดอกคูณ ฯลฯ เป็นต้น รวมถึง มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมราคาย่อมเยาจำหน่ายด้วย และ*กลุ่มอาชีพสตรีผ้าไหมมัดหมี่บ้านสูงเนิน เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่มีชื่อเสียง (ผ้าไหมมัดหมี่ภูไท) โดยมีการสาธิตการปลูกม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมผ้า รวมถึงขั้นตอน การมัดหมี่ และแต้มสี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ แหล่งผลิตเส้นไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศไทยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม หนองคาย ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ สกลนคร ศรีสะเกษร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ ชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานขนาดใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 10 โรง มีการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหม การทอผ้าไหม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมทั้ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้นด้วยเช่นกัน รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย