ภาคีเพื่อการศึกษาไทย นำ 8 พรรคร่วมถกนโยบายเปลี่ยนการศึกษา

0
26260

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ชวน 8 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” ยื่น “สมุดปกขาว” เสนอปฏิรูป 5 ข้อ “ปรับหลักสูตรแกนกลาง-บริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็ก-พัฒนาทักษะที่จำเป็นครู-นร.-ไม่เอาความรุนแรง-กล้าทำสิ่งใหม่”ด้าน ดร.วรากรณ์ ชี้ บิ๊กล็อกการศึกษา “ลดเหลื่อมล้ำ” เห็นรูปธรรมมากสุด

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ (Thailand Education Partnership :TEP) จัดเวทีนโยบายการศึกษากับพรรคการเมือง (TEP Policy Forum) โดยมี รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษาภาคีเพื่อการศึกษาไทย และอดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเวที มีการนำเสนอ TEP whitepaper  โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยได้เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สนใจการพัฒนาการศึกษาไทย จำนวน 8 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” ได้แก่ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม พรรคเพื่อไทย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล คุณภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา พรรคประชาธิปัตย์ คุณศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย คุณพรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า คุณกมล รอดคล้าย พรรคภูมิใจไทย ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ พรรคชาติไทยพัฒนา และ ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร พรรคเสรีรวมไทย

รศ.ดร. วรากรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาได้พยายามแก้ไขปัญหาภาพรวม โดยการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา หรือ 5 Big Rock คือ 1. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย 2. การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 3. การปฏิรูปกลไกและระบบผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน 4. การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน 5. การปฏิรูปบทบาททางการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา Big Rock ที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา สามารถให้ทุนสำหรับเด็กเปราะบาง ยากจน เป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นและทำได้ทันที ซึ่งในส่วน Big Rock อื่นๆ ก็ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ และที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลอย่างมากในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทางกศส.ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” และหนังสือ “พลิกโฉมการศึกษาไทย บันไดสู่คุณภาพการศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม” ที่สรุปผลการดำเนินงานของทั้ง 5 Big Rock ในช่วงที่ผ่านมา  ผลกระทบต่อสภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย สภาพจิตใจของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง รวมถึงความเสี่ยงของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นการซ้ำเติมเด็กยากจนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก 1 ล้านคน และในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8 ล้านคน ด้านการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ รวมถึง 1 ใน 3 ของเด็กขาดอุปกรณ์การเรียนรู้ ครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีงานทำ รัฐบาลต่อไปจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขเยียวยา เมื่อ “คนคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง การทำให้คนมีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากการศึกษา พรรคกำหนดนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ เราก็เลือกพรรค ที่จะนำนโยบายที่ถูกต้องนำไปสู่การปฏิบัติ การรับฟังนโยบายจาก 8 พรรค ครั้งนี้ จะเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน การเรียนรู้และรับฟังความเห็นและนำไปแก้ไข ทั้งการจัดการงบประมาณ วิธีการแก้ไข หลักสูตรสมรรถนะที่สอนให้คนทำเป็น ไทยมีตัวอย่างมากมาย เช่น เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี แต่เราไม่สามารถใช้งานได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากร่วมกันคนละไม้คนละมือ เพราะสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับคน หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่นำไปใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์”
รศ.ดร. วรากรณ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้นำเสนอ TEP whitepaper หรือสมุดปกขาวที่มีการสรุปปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษาไทย  บทเรียนจากความพยายามปฏิรูปที่ผ่านมา และประเด็นท้าทาย 4 ประการในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย คือ 1. การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ 2. การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 3. การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน 4. การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) มี 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ว่าควรมีนโยบายดังนี้ 1.ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ จากการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร และไม่ยอมให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มสามารถยับยั้งการปรับหลักสูตรได้ 2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน โดยอาจนำข้อเสนอของธนาคารโลกเป็นจุดตั้งต้น และเสริมด้วยการให้แรงจูงใจแก่ครูในการย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) โดยพิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะของครู ตลอดจนยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำที่ดินหรือทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบหรือควบรวมไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน 3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสอนของครูตามหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง และรณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก ตระหนักถึงผลเสียจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อพัฒนาการของเด็ก และให้เด็กทราบแนวทางปกป้องตนเองหากมีการละเมิด ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการสามารถบูรณาการมาตรการที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน เช่น โครงการสถานศึกษาปลอดภัย และศูนย์บริการประชาชน (กระทรวงศึกษาธิการ) เป็นต้น และ 5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ไม่สั่งการจากเบื้องบนลงไปโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโรงเรียน