มกอช. ปิดดีลเจรจาข้อบท SPS ภายใต้ ATIGA ฉบับอัพเกรดสำเร็จ หวังเพิ่มโอกาสทางการค้าตลาดโลก

0
66874

มกอช. รับบทประธานอาเซียน เจรจานัดสุดท้ายร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกเพื่อยกระดับข้อบทด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน(ATIGA) ให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และทันสมัย การเจรจาปิดฉากลงได้อย่างสวยงาม เชื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคอาเซียน

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (กนม.) เป็นประธานถาวรในการประชุมคณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (WG-SPS) ครั้งที่ 11 ภายใต้การเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ระหว่างวันที่ 46 กุมภาพันธ์ 2568โดยมีผู้แทน กนม. รวมด้วยอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย

การเจรจาจัดทำข้อบท SPS ภายใต้ความตกลง ATIGA ฉบับอัพเกรดนี้ ใช้เวลากว่า 2 ปี เริ่มเปิดการเจรจาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 และได้ข้อสรุปร่วมกันทุกหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับความเป็นสากล โปร่งใส และทันสมัย ซึ่งข้อบท SPS ฉบับอัพเกรดนี้ ประกอบด้วย 18 หัวข้อ มีหัวข้อที่เพิ่มขึ้นจากข้อบท SPS ภายใต้กรอบ ATIGA ฉบับเดิม จำนวน 9หัวข้อ โดยเน้นความชัดเจนของขั้นตอนการดำเนินการด้าน SPS เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยง การตรวจประเมิน การให้การรับรอง เพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญด้านความโปร่งใสในการแจ้งเตือนมาตรการต่างๆ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการสร้างเสริมศักยภาพ และมุ่งเน้นการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการด้าน SPS เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาด้าน SPS ภายในภูมิภาค โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้านอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่เพิ่มขึ้นจากข้อบท SPS ภายใต้ความตกลง ATIGA ฉบับเดิม คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามขั้นตอนของ SPS เช่น การใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจประเมินทางไกล ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค

ข้อบทที่อาเซียนเห็นชอบร่วมกันในครั้งนี้จะถูกนำเสนอต่อการประชุมคณะเจรจาการค้าเสรี (TNC) ภายในเดือนมีนาคม 2568 และเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาทางกฎหมาย โดยคาดว่าจะลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนกันยายน 2568

ทั้งนี้ การค้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในภูมิภาคอาเซียน ปี 2567 มีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยไทยมีสถานะได้ดุลการค้า ประเทศคู่ค้าอาเซียนที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และมีสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ทุเรียนสด ยางธรรมชาติ ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง