มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สร้างครัวเรือนต้นแบบพัฒนาอาชีพ ยกระดับสินค้าชุมชน เพิ่มมูลค่า พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

0
16686

รศ.พญ.ดวงพร นะคาพันธุ์ชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า โครงการสหเวชศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อยกระดับรายได้สร้างอาชีพให้กับประชาชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการคัดเลือกชุมชนที่มีเกณฑ์ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและต้องการเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพต่อยอดสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น ในปี 2564 ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม จากผลการสำรวจข้อมูลพบว่ามี 3 ชุมชม ได้แก่ ชุมชนตลาดน้ำบางน้อย ตำบลกระดังงา ชุมชนตำบลบางนกแขวกและชุมชนตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม รวม 8 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เข้าหลักเกณฑ์และมีความต้องการจะเข้าร่วมโครงการ


โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของครัวเรือนในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยมีทีมอาจารย์จากวิทยาลัยสหเวชศาสตร์/คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สวนสุนันทา ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ เข้าร่วมพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่สำคัญยังคงใช้วัตถุดิบเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชุมชนนั้นๆ เป็นจุดขาย เช่น จังหวัดสมุทรสงครามมีความโดดเด่นเรื่องมะพร้าว ส้มโอ และสมุนไพรก็ได้นำวัตถุดิบเหล่านี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง ยาหม่องน้ำมันมะพร้าว น้ำมันนวดผิวส้มโอ ชุดผลิตภัณฑ์กัวซาจากกะลามะพร้าว (ศาสตร์แพทย์แผนจีนนิยมใช้แผ่นหินทำกัวซาขูดผิวหนังให้เลือดไหลเวียนและเสริมภูมิต้านทาน) การออกแบบบรรจุภัณฑ์และส่งเสริมการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรแบผสมผสาน หรือขนมทองม้วนสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ขนมเปี๊ยะชุดของว่าง เป็นต้น


“ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความชำนาญในการประกอบอาชีพของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปเพิ่มเติมความรู้และเทคนิคต่างๆ เสริมในสิ่งที่เขาขาดช่วยให้เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชนขยายออกไปนอกพื้นที่ทั้งตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนสู่ระดับนานาชาติ นำไปประกวดในเวทีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดขยายผลสู่การเป็นสตาร์ทอัพ ดันผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่การส่งออกในอนาคต ทั้งนี้ หลังจากการเข้าร่วมโครงการชาวบ้านมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70% ภายในหนึ่งปี ที่สำคัญชาวบ้านมีการนำความรู้ไปขยายผลให้คนในชุมชนตนเองด้วย จึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป” รศ.พญ.ดวงพร กล่าว


ด้าน ผศ.ดร.รินรดา พัฒนใหญ่ยิ่ง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สวนสุนันทา กล่าวว่า การยกระดับรายได้ของคนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานะไม่ค่อยดี ทำการค้าขายปกติมีรายได้ไม่แน่นอน ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็จะเข้าไปสนับสนุนข้อมูลและวิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละครัวเรือนให้ดีขึ้น กรณีตัวอย่าง ครัวเรือนที่ 1 มีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวรายได้ค่อนข้างต่ำ ก็เข้าไปช่วยยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพสะอาดถูกสุขลักษณะตั้งแต่สนับสนุนหม้อก๋วยเตี๋ยว ตู้ใส่วัตถุดิบ ควบคู่กับสอนอาชีพเสริมเน้นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำได้ง่ายเก็บไว้ได้นาน เช่น ท้องม้วน ดอกจอก ครัวเรือนที่ 2 ทำอาชีพขายอาหารตามสั่งต้องการยกระดับรายได้โดยหาเมนูอาหารใหม่มาเพิ่มยอดขาย จึงเกิดเป็นเมนูต้มแซ่บเล้ง ไก่ทอด และเครื่องดื่มสมุนไพร ครัวเรือนที่ 3 ทำขนมถั่วกรอบแก้วและท๊อฟฟี่โบราณ ต้องการหาความรู้ในการทำขนมวุ้นกรอบ เพื่อขายสร้างรายได้เพิ่มอีกชนิดหนึ่ง เป็นต้น โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีความพร้อมและเชี่ยวชาญหลากหลายด้านสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของแต่ละครัวเรือน พร้อมอบรมถ่ายทอดความรู้ สูตรอาหารและวิธีการผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อพัฒนาครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


หากชุมชนใดสนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา www.ssru.ac.th เพจ Facebook วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเพจ Facebook คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา