ม.เกริก เปิดตัว วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับโลกมุสลิม

0
25124

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกริก เปิดตัว วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการศึกษาของมุสลิมไทยต่อการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในโลกมุสลิม” และ มีคณะทูตานุทูตจากประเทศมุสลิม ได้แก่ บาห์เรน บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบังกลาเทศ ตลอดจนผู้แทนท่านจุฬาราชมนตรี สถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่าย นักวิชาการ นักธุรกิจ ร่วมแสดงความยินดี ในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก รวมกว่า 300 คน


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานในพิธีได้ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับโลกมุสลิมที่มีไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านคน ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริง การทำธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จก็จะเป็นไปได้ยาก เมื่อการเปลี่ยนผ่านในโลกทุกวันนี้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอำนาจแบบหลายขั้ว กลุ่มประเทศมุสลิมจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญต่อการค้าการลงทุนและการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเราควรเตรียมทรัพยากรของเราให้มีความพร้อมในทุกด้านโดยเฉพาะใช้องค์ความรู้มาขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันเพื่อให้สามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันได้มากขึ้น


ด้าน ศ.ดร.นพ. กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี กล่าวว่า คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก และสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจอิสลาม เป็นวิทยาลัยธุรกิจอิสลามชั้นนำในประเทศไทย (Leading Islamic Business College in Thailand) และเป็นวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลามทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาอุตสาหกรรมฮาลาล การเงินอิสลาม และการจัดการบริหารฮัจย์และอุมเราะห์ ท่านอธิการบดี ยังได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริกมีความภาคภูมิใจต่อการพัฒนาการศึกษาที่มีความหลากหลาย มีความโดดเด่นทางด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และมีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพขับเคลื่อนในภาษาอาหรับ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเชื่อมโยงสังคมไทยกับสังคมมุสลิมทั่วโลกที่กำลังเติบโตในทุกมิติ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การบริการ และการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมฮาลาล การเงินอิสลาม และการจัดการฮัจย์และอุมเราะห์

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ กล่าวว่า ความสำคัญว่าวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพแห่งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารธุรกิจอิสลาม และเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านบริหารธุรกิจอิสลามชั้นนำของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มประเทศมุสลิมทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้การกลับมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในระดับที่ดีขึ้นนั้น ส่งผลต่อโอกาสและประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ กลุ่ม SMEs ในการแสวงหาช่องทางการทำธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้า รวมถึงการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆมากยิ่งขึ้น

ซึ่งปัจจุบัน ในส่วนของวิทยาลัยนาชาติอิสลามกรุงเทพ มีนักศึกษาไทยและต่างชาติ (มุวัลลัด) รวมแล้วกว่า 200 คน โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสำคัญ ๆ หลายแห่ง อาทิ สำนักจุฬาราชมนตรี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สหกรณ์อิสลาม สถาบันการศึกษา มูลนิธิด้านการศึกษาและเยาวชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพจึงถือเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและส่วนอื่น ๆ ของประเทศ เพราะในหลักสูตรการเรียนการสอนมีความหลากหลายของสาขาวิชาที่กำเนิดขึ้นนั้นมีความสอดคล้องกับแนวทางในการทำงานของผู้เรียนและตามความต้องการของกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานเข้ามาศึกษา อาทิ วิชาบริหารธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล การเงินอิสลาม และการบริหารจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ โดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และ มีความสามารถทั้งด้านวิชาการ ซึงมีหลายท่านจบการศึกษามาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ โมร็อกโก อียิปต์ และอินเดีย และมีประสบการณ์ตรงในสาขาที่เกี่ยวข้อง