รมช.มนัญญา ติดตามการดำเนินงานซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ พบปะลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ชูกลไกสหกรณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาชีพ

0
8775

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ พบปะสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ นำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรของจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมมอบเงินสนับสนุนกลุ่มอาชีพผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟคุณภาพ สังกัด สหกรณ์ผู้ปลูกพืชผักผลไม้กันทรลักษ์ จำกัด และกลุ่มอาชีพเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ สังกัด กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไฮเลิง

รมช.มนัญญา เปิดเผยภายหลังติดตามการดำเนินงานซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ว่า สหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ จำหน่ายสินค้าจากสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย 7 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จำกัด สหกรณ์การเกษตรพยุห์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรปรางค์กู่ จำกัด สหกรณ์การเกษตรยางชุมน้อย จำกัด สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินกันทรลักษณ์ จำกัด กลุ่มเกษตรกรไฮเลิง และกลุ่มอาชีพในพื้นที่ คทช. สังกัดสหกรณ์การเกษตรขุขันธ์ จำกัด ช่วยพัฒนาการดำเนินธุรกิจของร้านค้าสหกรณ์มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ ผู้ผลิตมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่แน่นอน ลดความเสี่ยงด้านการตลาดของเกษตรกรสมาชิก โดยใช้ระบบสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม มีความสด ใหม่ สะอาด ปลอดสารเคมี อาทิ ไข่ไก่ ผักผลไม้สด หอมแดง กระเทียม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลผลิตด้านประมง เป็นต้น ตั้งแต่เริ่มโครงการมียอดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 6 แสนบาท

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมนิทรรศการและการจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าแปรรูป พร้อมทั้งพบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จำนวน 6 ราย ทั้งนี้ในจังหวัดศรีสะเกษ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 293 ราย มีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 แห่ง รวมทั้งสหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ จำกัด มีผู้สมัครทั่วประเทศ 7,573 ราย ที่ผ่านมา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดการประชุมชี้แจงและจัดโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน โครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ด้านการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิต การปลูกผักอินทรีย์ การสร้างเครือข่ายและการตลาด ด้านการเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ การแบ่งที่ดินทำกินที่มีทรัพยากรจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรด้านปศุสัตว์ เทคนิคการผลิตอาหาร ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาอาชีพการเกษตรอีกด้วย

นายภัทรศักดิ์ หนองหงอก อายุ 37 ปี เป็นหนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันตนเองประกอบอาชีพรับราชการเป็นพยาบาลวิชาชีพ จะใช้ช่วงวันหยุดมาทำการเกษตรเพื่อสืบทอดเจตนารมย์ของบิดามารดา โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด บนเนื้อที่ 14 ไร่ในอำเภอกันทรลักษณ์ ปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน โกโก้ ฝรั่ง และเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มันเลือดร้อย และในอนาคตวางแผนพัฒนาแล่งน้ำ ระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ด้าน นางสาวอารยา สุขวงศ์ อายุ 40 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ กล่าวว่า เดิมตนเองทำงานในบริษัทเอกชน ตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาประกอบอาชีพทำการเกษตร บนเนื้อที่ 3 ไร่ในพื้นที่อำเภอน้ำเกลี้ยง จำนวน 1 ไร่ และอำเภอเมือง จำนวน 2 ไร่ ปลูกอ้อยอินทรีย์คั้นน้ำขาย ได้สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง และมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกอ้อยอินทรีย์ ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนอ้อยอินทรีย์คั้นน้ำยางน้อย”

นางสาวอินทิรา ศรัทธาธรรม อายุ 40 ปี จบการศึกษา ม.6 กล่าวว่า ตนเองลาออกจากบริษัทเอกชน กลับมาทำเกษตรอำเภอปรางค์กู่ บนพื้นที่ 2 ไร่ ทำปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงหอยขม รวมทั้ง เพาะเห็ดนางฟ้าออร์แกนิค แปรรูปเห็ด เป็นไส้กรอกเห็ด แหนมเห็ด ไส้กรอกหมู น้ำพริก และจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ตนเองปลูก และผลิตภัณฑ์แปรรูปของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์

สหกรณ์การเกษตรเมืองศรีสะเกษ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2519 ประเภทสหกรณ์การเกษตร ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 44 ปี จนถึงปัจจุบัน สหกรณ์มีสมาชิก จำนวน 7,741 ราย มีทุนดำเนินงาน 1,832 ล้านบาท สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย ธุรกิจรับฝากเงินจากสมาชิก ธุรกิจรวบรวมข้าว ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจแปรรูปข้าว และธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ทั้งนี้สหกรณ์ฯ ยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (CDC) เพื่อรองรับสินค้าและจุดจำหน่าย จากขบวนการสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิก ทั้งในจังหวัดศรีสะเกษและต่างจังหวัด ได้แก่ ข้าว ผลไม้ น้ำปลา น้ำดื่ม น้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งในปี 2563 มียอดการกระจายสินค้ามากกว่า 38 ล้านบาท