รมว.นฤมล จับมือ 2 รมช.เกษตร ฯ มอบนโยบาย ย้ำสานต่อ 9 นโยบาย สู่เกษตรทันสมัย เกษตรกรต้องอยู่ดีทรัพยากรเกษตรยั่งยืน

0
65436

เช้านี้ (16 กันยายน 2567) ที่ห้องประชุมธารทิพย์ 01 อาคารหม่อมหลวง ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน และรองอธิบดีกรมชลประทานทั้ง 4 คน ได้แก่ นายสุริยพล นุชอนงค์ นายเดช เล็กวิชัย นายวิทยา แก้วมี และนายฐนันดร์ สุทธิพิศาล เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมนี้ได้ประชุมผ่านระบบ Video conference เพื่อให้มีการรับฟังอย่างทั่วถึง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยนโยบายด้านการเกษตร รัฐบาลยังคงเน้นยกระดับให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยึดหลักการทำงาน คือ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และเน้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรและวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยจะยังคงสานต่อ 9 นโยบายสำคัญ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้แก่

1.เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ขยายครอบครัวเกษตร บูรณาการงานอย่างเข้มแข็ง
2.เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร
3.บริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อการเกษตร รวมถึงบริหารจัดการทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน
4.ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
5.ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง
6.จัดการทรัพยากรทางการเกษตร อาทิ ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับนโยบาย/มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น Carbon Credit โดยทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ปัญหา PM 2.5
7.รับมือกับภัยธรรมชาติ ต้องมีการวางแผนและมีมาตรการเชิงรุก เพื่อรับมือตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด เช่น มาตรการเยียวยาและ/หรือมาตรการฟื้นฟูสำหรับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น
8.สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน
9.อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร อาทิ ผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ นโยบายหลัก 9 ด้าน ของกระทรวงเกษตรฯ นับเป็นการสานต่อนโยบายเดิม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นที่จะพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยในด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งด้านการเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมุ่งขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างผลงานได้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม ร่วมกันผลักดันและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน