ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การทำการค้าเสรี (FTA) ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ การทำ FTA ระหว่างไทยกับชิลี (Free Trade Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Chile: TCFTA) เป็นการเปิดโอกาสตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีรายได้สูง โดยเฉพาะสินค้าเขตร้อนที่ชิลีไม่สามารถผลิตเองได้เพียงพอ และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวแทนจากชิลีในสินค้าของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและผลักดันภาคอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลต่อไป
“ที่ผ่านมา ไทย-ชิลี ได้ร่วมกันผลักดันประเด็นด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในรายการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อมูลสถิติการค้าและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TCFTA เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และร่วมกันพัฒนาความตกลงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นมาตรการที่ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารหรือเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์พืชสัตว์ภายในประเทศของตนเอง” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ทั้งนี้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Committee on Sanitary and Phytosanitary Measures) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย – ชิลี (TCFTA) ครั้งที่ 5 โดยมีนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานฝ่ายไทย พร้อมคณะผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนฝ่ายชิลี นำโดย นายเฟอร์นันโด คาตาลัน (Mr. Fernando Catalan) ตำแหน่ง Head of Department of Trade Regulatory Aspects กระทรวงการต่างประเทศชิลี พร้อมผู้แทนจากสำนักงานเกษตรและการปศุสัตว์ชิลี (SAG) และผู้แทนจากสำนักงานประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชิลี (SERNAPESCA) รวมทั้งได้รับเกียรติจาก นายปาตริซิโอ พาวเวลล์ โอโซริโอ (H.E. Mr. Patricio Powell Osorio) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ SPS และการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อกำหนดในการนำเข้าสินค้าเมล็ดพันธุ์ของไทย และข้อกำหนดในการนำเข้าสินค้าประมงแช่เย็น/แช่แข็งของชิลี รวมถึงหารือโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมนิทรรศการที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรและอาหารของชิลี เพื่อสร้างการรับรู้ต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าไทย ในส่วนของการเปิดตลาด ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตนำเข้าสินค้า ต่อเนื่องจากคราวการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อปี 2566 ได้แก่ สินค้าลำไย มังคุด และไก่ของไทย และสินค้าสาลี่ เนื้อหมู เนื้อโค เนื้อแกะ และอัลมอนด์ของชิลี โดยได้ตกลงประเด็นที่ต้องดำเนินงานหลังจากนี้ และกำหนดกรอบเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จร่วมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายชิลียังได้แสดงความสนใจสินค้าเพิ่มเติม ได้แก่ การนำเข้านกสวยงามของไทย และการส่งออกเฮเซลนัท ไม้สน และวัตถุดิบอาหารสัตว์ของชิลี
“ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความสนใจร่วมกัน ในการริเริ่มการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto certificate) และตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประสานงานเพื่อหารือประเด็นนี้ต่อไป และในโอกาสนี้ ฝ่ายไทย ยังได้นำคณะผู้แทนชิลี เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเนื้อไก่แปรรูปที่ บริษัท ไทสัน โพลทรี่ (ไทยแลนด์) จังหวัดนครนายก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการขอเปิดตลาดส่งออกไปยังชิลีอีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว