รัฐต้องใส่ใจป้องกันโรค…ลดเสี่ยงก่อนตรวจฟาร์มหมู เร่งกวาดล้าง “ขบวนการลักลอบนำเข้า” ทำลายหมูไทย

0
23781

จากภารกิจการตรวจสอบห้องเย็นรอบที่ 3 ของกรมปศุสัตว์และเครือข่าย เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าเนื้อหมูอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจสถานประกอบการกว่า 50 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดตาก น่าน ระยอง นครศรีธรรมราช สระแก้ว เชียงราย และเชียงใหม่

แม้จะไม่พบการกักตุน แต่ภาครัฐ โดยพาณิชย์จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และฝ่ายปกครองยังคงเดินหน้าภารกิจต่อ ด้วยการขอเข้าตรวจทั้งฟาร์ม โรงเชือด และห้องเย็นอยู่เป็นระยะ ภารกิจดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีการกักตุนเนื้อหมู เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า มีปริมาณเนื้อหมูเพียงพอต่อการบริโภค

แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าตรวจฟาร์ม ซึ่งเป็นต้นทางของการเลี้ยงหมูนั้น มิใช่อยากเข้ามาเมื่อใดก็ทำได้โดยเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีโรคที่พร้อมสร้างความเสียหาย ฟาร์มต้องมีระบบป้องกันโรคที่เข้มงวด ตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่มิอาจละเลยอย่างเด็ดขาด แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของฟาร์มตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เริ่มจากมีระยะพักโรคหรือกักโรคตามมาตรฐานอย่างน้อย 5 วันก่อนเข้าฟาร์ม และต้องไม่เข้าฟาร์มเลี้ยงหมูใดๆ ภายในระยะเวลา 5 วัน ขณะที่บุคคลทุกคนที่เข้าฟาร์มต้องผ่านการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อโรคด้วยวิธี PCR ก่อนเท่านั้น รวมทั้งต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าที่ใช้เฉพาะในฟาร์ม รถยนต์ภายนอกต้องจอดห่างจากฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกระบาดเข้าสู่ฟาร์มอย่างเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ ภารกิจตรวจติดตามผลผลิตที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ จึงสร้างความกังวลให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างยิ่ง เพราะการเดินทางเข้าตรวจหลายฟาร์มในเวลาจำกัด รวมถึงการเข้าออกโรงเชือด โรงงานแปรรูป และห้องเย็นภายในวันเดียวกัน ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่มีโอกาสนำเชื้อโรคจากแหล่งต่างๆ เข้าไปที่ฟาร์มได้ และหากเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ มาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน โดยเฉพาะโรค ASF ในหมู ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงมุ่งมั่นพยายามสร้างและยกระดับฟาร์มขึ้นมา ต้องพังลงอย่างแน่นอน และอาจกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โรคยังคงสร้างปัญหาต่อไป ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการควบคุมโรค

ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นผู้ทำให้ฟาร์มต้องเผชิญกับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการต้องยื่นแบบ สก.01 เพื่อรายงานปริมาณหมูเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงเรื่องสต็อกผลผลิตในฟาร์ม

ขณะเดียวกัน รัฐควรใส่ใจและเร่งกวาดล้าง “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู” ในรูปแบบชิ้นส่วนสดแช่แข็ง (Frozen) ที่กำลังระบาดอย่างหนักทั่วประเทศ มีการประกาศขายผ่านเพจเฟสบุ๊คอย่างโจ่งแจ้งแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ถือเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่ต้องปราบปรามไอ้โม่งเหล่านี้ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับโรคหมูต่างถิ่นที่มีโอกาสเข้ามาซ้ำเติมอุตสาหกรรมหมูไทยอีก ซึ่งหากยังไม่เร่งจัดการ เกษตรกรก็อาจไปต่อไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ก็ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่แล้ว

นอกจากนี้ เนื้อหมูลักลอบนำเข้า ยังทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติ เพราะรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ และยังต้องรับภาระการรักษาคนไทยจากความเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อโรคต่างๆ เพราะเชื้อหลายชนิดอยู่ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสดแช่แข็งที่อุณหภูมิติดลบได้นานนับปี และอาจยังมีปัญหาสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและผิดกฎหมายไทยที่มากับเนื้อหมูเถื่อนอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ภาครัฐควรโฟกัสให้ถูกจุด ด้วยการเร่งปราบ “ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู” ไม่ให้เข้ามาทำลายชาติ ทำลายอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และทำลายสุขภาพของคนไทย

เขียนโดย เกียรติ์ ศุภมาศ นักวิชาการ ด้านเกษตรปศุสัตว์