วีรศักดิ์” นำทีมพาณิชย์ ดันแห้วสุพรรณ เจาะตลาดโลกกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

0
2136

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นำทีมกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พิสูจน์คุณภาพกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “แห้วสุพรรณ” เผยเตรียมต่อยอดสินค้าเจาะตลาดต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน


เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 : นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าแห้วสุพรรณ คาดใช้ GI เป็นเครื่องมือทางการตลาด เร่งผลักดันขยายช่องทางการตลาด


นายวีรศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแห้วสุพรรณขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ตั้งแต่ปี 2560 เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะเด่นของแห้วสุพรรณ ผลมีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีรสชาติหวาน มันเนื้อแน่นกรอบสีขาว ผลิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

โดยปัจจุบันชุมชนสามารถนำมาแปรรูปเมนูทั้งคาว หวาน ได้หลากหลาย อาทิเช่น ทอดมันแห้ว ทับทิมกรอบ ไอศกรีมกะทิแห้ว อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ ที่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาของชุมชนไว้อย่างชัดเจน

.

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่ากลุ่มผู้ผลิตสินค้าแห้วสุพรรณมีการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ และมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ่านการตรวจประเมินและอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 37 ราย ซึ่งตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และทราบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการแห้วสุพรรณในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย

.

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสที่ได้ทราบปัญหาของผู้ผลิตแห้วสุพรรณประสบอยู่อีกด้วย เช่น ปัญหาด้านราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาด้านการตลาด และปัญหาแรงงาน เป็นต้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะรีบดำเนินการแก้ไข ตลอดจนจะให้มีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สินค้าแห้วสุพรรณให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะส่งเสริมและผลักดันให้จังหวัดเฟ้นหาสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพ เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป

นอกจากนี้ นายวีรศักดิ์ ได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์ GI ในเชิงพาณิชย์ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน GI Market การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งในลำดับถัดไป กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายช่องทางการตลาด การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยองค์ความรู้และการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยดูแลและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

#AllnewsExpress